
นายกฯ และ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การบินไทย เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง ซึ่งจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้สายการบินจะแย่หนักไปอีกอย่างน้อย 3 ปี
19 พ.ค. ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เฟซบุ๊ก @prayutofficial ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง โดยให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการตามปกติ โดยกล่าวว่า
“ไม่อุ้มครับ “เราจำเป็นจะต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในช่วงเวลาข้างหน้าต่อจากนี้”
วันนี้ ผมขอแจ้งให้ทราบถึงการตัดสินใจเรื่องการบินไทยนะครับ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ทั้งนี้ ก็เป็นการตัดสินใจที่ผมรู้ว่า เราจะช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนทุกคนได้อย่างไร
ในส่วนของปัญหาเรื่องนี้ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ในเรื่องของการมีหนี้สินต่างๆ มากพอสมควรในขณะนี้ เพราะฉะนั้นมีอยู่ 3 ทางเลือก คือ (1) หาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อไป (2) ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย และ (3) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล
ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาการฟื้นฟูไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะมีข้อกฎหมายอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ. แรงงาน และ พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจำเป็นที่จะต้องหามาตรการที่เหมาะสม และเราได้มีการพิจารณาร่วมกันใน คนร. และ ครม. แล้ว พวกเราทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเลือกหนทางแบบที่ 3 ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อจะแก้ปัญหาภายในขององค์กร และในเรื่องของการประกอบการเพื่อให้ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างที่พวกเราทุกคนวาดหวังไว้นะครับ
ผมอยากให้พวกเราทุกคนได้กลับไปคิดดูว่า เรามีการบินไทยเพื่ออะไร ในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยควรจะเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างชื่อเสียง และรายได้ให้กับคนไทย และมีความสามารถในการแข่งขัน มีความเข้มแข็งในตัวเอง อันนี้คือพื้นฐานการตัดสินใจของผม และนำสู่การพิจารณาใน ครม. ในวันนี้ครับ
วันนี้ถึงเวลาแล้วนะครับ ที่เราจะต้องกล้า ที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยการยื่นขอเข้ากระบวนการต่อศาล ได้มีการหารือกันอย่างรัดกุมในรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ประเทศไทยและทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤต รายได้ของทุกคนกำลังหายไป กับหายนะจากโควิด เราก็จำเป็นจะต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในช่วงเวลาข้างหน้าต่อจากนี้ ในการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรที่กำลังทุกข์ยาก ผู้ประกอบการ SME ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตทางธุรกิจ หรือ ช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือประชาชนทั่วไปที่ทำงานหนักอยู่ในขณะนี้เพื่อจะมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง รัฐบาลต้องมองอย่างรอบคอบ ในทุกมิติ
วันนี้ ถึงแม้เรามาถึงจุดที่สามารถควบคุมวิกฤตทางด้านสุขภาพได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ แต่ปัญหาจากโควิดจะยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะปัญหาที่หนักยิ่งกว่านั้น ที่รัฐบาลกำลังหาหนทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาดังกล่าว ก็คือ ปัญหาเรื่องการทำมาหากิน การหารายได้เลี้ยงปากท้องของประชาชน ที่ทุกคนในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และยังไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ถึงจะสามารถกลับมาทำมาหากินสร้างรายได้ ได้เหมือนปกติอย่างเคย นี่คือวิกฤตทางเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตนะครับ เราจำเป็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการใช้จ่ายงบประมาณ ยิ่งเป็นจำนวนมากหลังจากวิกฤตโควิดต่อจากนั้นก็เพื่อจะให้ประชาชนอยู่รอดได้ สร้างชีวิต สร้างรายได้ ทุกอย่างมาสู่ภาวะปกติ และมีการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมา และเข้มแข็งในระยะต่อไปนะครับ เราต้องมองทุกมิตินะครับ
ผมเองรู้สึกว่า การที่ผมตัดสินใจให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูนั้น โดยไม่ปล่อยให้การบินไทยต้องเข้าสู่สถานะล้มละลาย ซึ่งมันอาจจะทำให้พนักงานมากกว่า 2 หมื่นคน ต้องถูกลอยแพ พวกเราทุกคนคงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นนะครับ
เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะสนับสนุนในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้การบินไทยยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ผมจึงอนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาล และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาล ซึ่งศาลจะแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย
ผมเอง และพี่น้องประชาชนทุกคนก็คงคาดหวังเช่นเดียวกันว่า เมื่อมีมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการแล้ว การบินไทยจะสามารถกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยเคยภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้
ด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการเดียวที่การบินไทยจะยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้ พนักงานของการบินไทยก็จะยังมีงานทำต่อไป ในขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างของการบินไทยที่ควรจะทำสำเร็จมาตั้งนานแล้ว ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย ในการเข้าสู่มาตรการฟื้นฟูขณะนี้นะครับ
นั่นคือการตัดสินใจของผม และเป็นทิศทางที่รัฐบาลจะยึดปฏิบัติกับกรณีของการบินไทย ส่วนในรายละเอียดต่างๆ จะเป็นไปตามที่ศาลกำหนด และคาดว่าจะสามารถแจ้งให้ทุกท่านทราบในโอกาสต่อไป ผมให้ทางกระทรวงคมนาคมและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแถลงข่าวในเรื่องนี้ในรายละเอียดอีกครั้งครับ
การบินไทย เราถือว่าเป็นทูตที่ดีทางวัฒนธรรมที่ช่วยโปรโมทประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน 60 ปี ผ่านการทุ่มเททำงานของคนจำนวนมาก จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน วิศวกร ช่าง พนักงานภาคพื้น รวมทั้งพนักงานในส่วนงานอื่น ๆ ของการบินไทย ผมเองก็หวังเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนว่า การช่วยเหลือให้การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล จะช่วยให้การบินไทยสามารถกลับมาเป็นสายการบินที่มีความแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
ขอบคุณมากครับ นี่คือการตัดสินใจของผมและคณะรัฐมนตรีในวันนี้นะครับ”
รองประธานการบินไทยแจงยังสามารถประกอบธุรกิจการบินได้ตามปกติแม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย และไม่ได้มุ่งหมายเลิกบริษัทหรือล้มละลาย
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง โดยให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการตามปกติ
ทางออกของปัญหาการบินไทยอยู่ 3 แนวทางหลักๆ
1.กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท
ในตอนแรกจะใช้แนวทางนี้จะนำเอาเงินกู้ดังกล่าวไปช่วยเสริมสภาพคล่อง ให้บริษัทสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลก็มองว่าแผนงานดังกล่าวยังไม่ค่อยมีความชัดเจน และอาจจะไม่สามารถทำกำไรได้จริง เป็นการทุ่มเงินโดยเปล่าประโยชน์และมีแนวโน้มต้องใส่เงินลงไปเรื่อยๆ ซึ่งแค่ต้นทุนการดำเนินงานสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านต่อเดือน
2. ปล่อยให้การบินไทยล้มละลายไป
ในจุดนี้ รัฐบาลอาจมีความกังวลถึงผลเสียที่ตามมา ทั้งในเรื่องของผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51%ทั้งในเรื่องของส่วนแบ่งการตลาด ที่อาจจะโดนสายการบินต่างชาติเข้ามาครองตลาดเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงด้านภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งชาติ หากล้มละลายไปจะส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวในอนาคตได้
3. เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ทางรัฐบาลเห็นว่าการให้กิจการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลาง น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และหากมีการเพิ่มทุน ทางกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงให้ต่ำกว่า 50% เพื่อให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นเอกชนเต็มตัว และสามารถปรับโครงสร้างองค์กรได้ง่ายยิ่งขึ้น คล้ายๆ กรณี Japan Airline ซึ่งใช้วิธีนี้เช่นกัน ซึ่งทาง JAL เข้าสู่สถานะการล้มละลายเมื่อปี 2010 ด้วยหนี้สินกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่การล้มละลาย
แม้จะดำเนินการโดยศาลล้มละลายกลาง แต่ “การฟื้นฟูกิจการ” ก็จะมีความแตกต่างจาก “การล้มละลายของกิจการ”
ในส่วนของการล้มละลาย เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ก็จะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ที่ถูกแต่งตั้งมา เพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ จากนั้นจะมุ่งเน้นไปยังการรวบรวมทรัพย์สิน จัดการแยกประเภท และขายออกมา เพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้เป็นสัดส่วนลดหลั่นกันไป
แต่ในส่วนของการฟื้นฟูกิจการ แม้จะมีเจ้าหน้าที่ทำแผนฟื้นฟู และเจ้าหน้าที่บริหารแผนที่ถูกแต่งตั้งมาเช่นกัน แต่จะมุ่งเน้นไปที่การทำให้กิจการยังคงเดินหน้าต่อไปได้ มีการเจรจาพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างจริงจัง เพื่อให้ธุรกิจนั้นเปลี่ยนไปและสามารถดำเนินการต่อไปได้ หลังจากนั้น ศาลจะแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นคนที่ทุกฝ่ายมองว่าเหมาะสม ซึ่งแผนฟื้นฟูนั้น ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบที่ตรงกันจากทั้งทางศาล เจ้าหนี้ รวมถึงลูกหนี้เอง ว่าเป็นแผนที่เหมาะสมและใช้งานได้จริงหลังจากนั้น ก็จะถูกส่งมอบไปยังผู้บริหารแผน ซึ่งจะทำหน้าที่จัดการดูแลกิจการและทรัพย์สิน ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
โดยมีเป้าหมายสำคัญก็คือ “การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการ ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้”
ปัจจุบัน “การบินไทย” มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 2.44 แสนล้านบาท มีกลุ่มเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม
1. เจ้าหนี้การค้า เช่นค่าเครื่องบิน
2. กลุ่มสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย
3. กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ เช่น กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ
หนี้ที่น่าสนใจคือ หนี้หุ้นกู้ มีมูลค่ารวมกันราว 7.4 หมื่นล้านบาท ที่น่าเป็นห่วง คือ ในจำนวนนี้กว่า 57% หรือราวๆ 4.22 หมื่นล้านบาท ถือลงทุนโดย “สหกรณ์ออมทรัพย์” จำนวน 82 แห่ง
ปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นการบินไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.กระทรวงการคลัง ถือหุ้นสัดส่วน 51.03%
2.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือ 7.56%
3.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือ 7.56%
4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือ 3.28%
5.ธนาคารออมสินถือ 2.13%