เวียดนามมีเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี 2587 รวมทั้งกำหนดเป้าหมายจีดีพีช่วงปี 2564-2568 ขยายตัวเฉลี่ย 6.5-7.0%
- เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ไหลเข้าเวียดนามสวนทางกับไทย
- ผลสำรวจของ JETRO – ไทยไม่ได้เนื้อหอมในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่นอีกต่อไป
- เวียดนาม ทำ FTA และเขตเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ สูงกว่าของไทยเกือบ 3 เท่า
- โครงสร้างประชากรและค่าแรง ทำให้เวียดนามได้เปรียบเทียบไทยอย่างมาก
วิกฤติโควิด-19 ทำให้แต่ละประเทศเกิดวิกฤต IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2020 นั้น จะถดถอยอย่างน้อย -7% แต่เศรษฐกิจเวียดนาม ยังคงเติบโตขึ้นไปได้อีกประมาณ 2% ประเทศเวียดนาม ได้ประโยชน์เต็มๆ จากความขัดแย้ง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมถึง การเกิดขึ้นของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้ ผู้ประกอบการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปอยู่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะได้ประโยชน์จากค่าแรงที่ต่ำกว่า โครงสร้างประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก มีทักษะที่ดี รวมถึงได้แรงจูงใจด้านภาษี อีกทัั้งยังมีการเจรจาเขตการค้ากับหลายประเทศ
อัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามเมื่อเทียบกับประเทศไทย
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามแล้วข้อมูลของปี 2019
ประเทศไทย
- ขนาดเศรษฐกิจ 16.4 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับที่ 22
- ประชากรมีรายได้เฉลี่ยคนละ 236,000 บาทต่อปี รายได้ปานกลางระดับสูง (Upper middle income country)
- อัตราการเติบโตย้อนหลังสิบปีประมาณ 3%
- ประชากรทั้งประเทศประมาณ 70 ล้านคน
เวียดนาม
- ขนาดเศรษฐกิจ 7.9 ล้านล้านบาท อยู่อันดับที่ 44 ของโลก
- ประชากรมีรายได้เฉลี่ยคนละ 82,000 บาทต่อปี รายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower middle income country)
- อัตราการเติบโตย้อนหลังสิบปีประมาณ 6%
- ประชากรทั้งประเทศกว่า 97 ล้านคน
เศรษฐกิจไทยยังคงใหญ่กว่าเวียดนาม 2 เท่า ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทย ก็มากกว่าของเวียดนามเกือบ 3 เท่า
หลังจากโควิด ถ้าสถานการณ์กลับเป็นปกติ แล้วเวียดนามยังคงโตปีละ 6% ขณะที่ไทยก็ยังคงโตปีละ 3% ไปเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ที่ อีก 30 ปี GDP ของเวียดนามอาจจะแซงประเทศไทยได้
ก้าวต่อไปของเวียดนามสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
เวียดนาม ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 นี้ โดยในปี 2045 เวียดนามตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยระบบสังคมนิยมที่มีรายได้ระดับสูง (มากกว่า $12,615) โดย ปี 2019 GNP ของเวียดนามอยู่ที่ $2,540 ขณะที่ ประเทศไทย GNP ในปี 2019 อยู่ที่ $7,260
เวียดนามโดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 นี้โดย
โดยในปี 2025 เวียดนามหวังว่าจะเป็น ประเทศกำลังพัฒนาที่ไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่(modernity-oriented industry)และจะทำรายได้ให้สูงกว่าระดับปานกลางระดับต่ำ (GNI ต่อหัวระหว่าง $1,036 ถึง $4,085 Lower middle income country)
โดยในปี 2030 เวียดนามหวังว่าจะเป็น ประเทศกำลังพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมสมัยใหม่(modernity industry)และมีรายได้ระดับปานกลางระดับสูง (GNI ต่อหัวระหว่าง $4,086 ถึง $12,615 Upper middle income country)
โดยในปี 2045 เวียดนามตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยระบบสังคมนิยมที่มีรายได้ระดับสูง (มากกว่า $12,615 High income country)
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐเวียดนามเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อย 6% เป็นเวลามากกว่าสิบปี
นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “Đổi Mới” โด๋ยเม้ย เสมือนการเปิดประเทศของประเทศจีน
ในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เรียกว่า “Đổi Mới” เป็นภาษาเวียดนามแปลว่าบูรณะหรือดำเนินการใหม่ เป็นนโยบายเศรษฐกิจของเวียดนามที่เสนอโดยเหงียน วัน ลิญ เป็นการเน้นตลาดเสรีแต่ใช้ระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ ข้อมูลจาก EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ไว้ว่า นโยบายโด๋ยเม้ย ทำให้เวียดนามมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 1986 การเริ่มใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ลดการผูกขาดของภาครัฐ และเพิ่มเสรีทางการค้าและการลงทุนในภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 9.6% ต่อปีในช่วงปี 1985-1995 และยังคงเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยราว 6-7% ต่อปี จนกระทั่งปัจจุบัน
หัวใจของนโยบาย Đổi Mới คือ การผสมผสานระหว่างการเปิดเสรี (Liberalization) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสถาบัน (Institutional Reform) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Reform) หลังจากประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกซึ่งได้มีการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเป็นจำนวนมาก ภาคเอกชนได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตและส่งออกมากขึ้น ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการส่งออก ส่งเสริมการลงทุนโดยภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเวียดนาม ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคุมเงินเฟ้อ และอนุญาตให้ชาวเวียดนามสามารถถือครองที่ดินได้ เป็นต้น
นโยบายโด๋ยเม้ยยังพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม โดยปี 2528 ก่อนประกาศใช้นโยบาย Đổi Mới สัดส่วนภาคเกษตรกรรมของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 40.17% และลดลงเหลือ 23.24% ในปี 2544 ปัจจุบันสัดส่วนภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 15.34%
ภาคบริการ 41.26% และภาคอุตสาหกรรม 33.4% โดยส่งออกอันดับต้น ๆ ของเวียดนามไม่ใช่สินค้าเกษตรแต่เป็นเครื่องจักรไฟฟ้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น
มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลสื่อของเวียดนามว่า สำนักงานสถิติของเวียดนามเผยถึง การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) ปี 2563 มีมูลค่ารวม 28,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.83 แสนล้านล้านบาท ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ โดยลงทุน 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในโครงการใหม่ และ 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับขยายลงทุนเพิ่มเติมในโครงการปัจจุบัน และ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการควบรวมและซื้อกิจการ ทั้งนี้ ในปี 2562 เวียดนามมีโครงการ FDI มูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
โดยในปี 2563 มี 79 ประเทศที่ลงทุนในเวียดนาม โดยสิงคโปร์เป็นผู้นำด้วยมูลค่า 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วยจีนร้อยละ 10.8 ไต้หวัน ร้อยละ 10.3 ฮ่องกงร้อยละ 8.7 และเกาหลีใต้ร้อยละ 8.2
สำหรับประเทศไทยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 (ข้อมูลทั้งปีคาดได้ข้อสรุปกลางเดือนมกราคม 2564) มีต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 657 โครงการ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 118,504 ล้านบาท ลดลง 29%
นักลงทุน 5 อันดับแรกที่ขอรับการส่งเสริม ได้แก่ ญี่ปุ่น 139 โครงการ เงินลงทุน 37,545 ล้านบาท, จีน 129 โครงการ เงินลงทุน 21,237 ล้านบาท, เนเธอร์แลนด์ 62 โครงการ เงินลงทุน 17,514 ล้านบาท, สิงคโปร์ 76 โครงการ เงินลงทุน 12,006 ล้านบาท และไต้หวัน 37 โครงการ เงินลงทุน 9,450 ล้านบาท
เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามได้พัฒนาขึ้นทั้งด้านความหลากหลายและความซับซ้อนของสินค้า ยอดการส่งออกสินค้าหลักที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีและสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง โดยในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามได้มีการพัฒนาด้านความหลากหลายของสินค้า และความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าส่งออกหลัก โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 การผลิตโทรศัพท์มือถือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ เป็น 3 กลุ่มสินค้าหลักที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม
EIC ระบุว่าความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนามเริ่มตามไทยทันแล้ว เห็นได้จากอันดับดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (Economic Complexity Index: ECI) ที่ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกของเวียดนามที่ขยายตัวดีในกลุ่มสินค้าหลัก โดยระหว่างปี 2553-2562 การส่งออกสินค้าหลัก 10 อันดับแรกของเวียดนามส่วนใหญ่ขยายตัวเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 10% ขณะที่การส่งออกสินค้าหลัก 10 อันดับของไทยทั้งหมดขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 10% นอกจากนี้การส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ใหญ่สุดของเวียดนามคิดเป็น 42% ของการส่งออกรวมยังเติบโตได้ดีและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ต่างจากไทยที่การส่งออกเครื่องจักรที่เป็นหมวดสินค้าหลักสัดส่วน 16% ของการส่งออกรวมเริ่มขยายตัวชะลอลงและได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มน้อยลง
97 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและอำนาจซื้อสำคัญ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว และดึงดูดบริษัทต่างประเทศระดับโลกเข้ามาลงทุน นอกเหนือจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ คือ จำนวนประชากร และโครงสร้างประชากรเวียดนาม ปัจจุบันเวียดนาม มีประชากรประมาณ 97 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 111 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้าอายุเฉลี่ยของคนเวียดนามในวันนี้คือ 32 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยของคนไทยคือ 40 ปี ซึ่งชาวเวียดนามส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญ ทั้งในตลาดงาน และเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจการซื้อ
ด้านกำลังแรงงานไทยเริ่มหดตัวลงตั้งแต่ปี 2012 ตรงข้ามกับเวียดนามซึ่งกำลังแรงงานยังคงขยายตัวต่อเนื่อง (เติบโตเฉลี่ย 1.3% ต่อปีในช่วงปี 2010-2019) นอกจากนี้ ผลิตภาพแรงงานไทยยังเติบโตเพียง 3% ในปี 2019 ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเวียดนามเพิ่มขึ้น 8.2%
ปริมาณแรงงานที่อายุน้อยและมีจำนวนมาก จึงทำให้ต้นทุนค่าแรงของเวียดนามต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำของไทยออย่างน้อย 300 บาทต่อวัน แต่ ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 132-190 บาทต่อวัน
โครงสร้างประชากรเวียดนามเมื่อเทียบกับไทย
ข้อมูลจาก populationpyramid เป็นข้อมูลคาดการณ์ประชากรและช่วงอายุของประชากร ในรูปจะเป็นโครงสร้างประชากรเวียดนามเมื่อเทียบกับไทยปี 2020 2030 และ 2040 เมื่อโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไปยังกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลต่อกำลังซื้อที่หดตัวลง และพฤติกรรมของผู้คนในกลุ่มอายุดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตโนมัติทั้งจากสภาพร่างกายหรือสภาพทางเศรษฐกิจที่ต้องเก็บเงินไว้สำหรับการเกษียณอายุ ซึ่งต่างกับประเทศเวียดนามที่ประชากรยังอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งโดยปกติคนอายุน้อยกว่าจะใช้จ่ายมากกว่าผู้สูงอายุอยู่แล้ว
ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านบุคคลากรพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
ในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียน เวียดนามมีดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HCI จัดทำโดย World Bank) สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 0.69 คะแนน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ซึ่งได้ 0.88 คะแนน ขณะที่ไทยรั้งอันดับ 4 ที่ 0.61 คะแนน โดยเวียดนามมีคะแนน HCI นำหน้าไทยมากในด้านคุณภาพผลสำเร็จทางการศึกษา สะท้อนจากคะแนนสอบซึ่งแปลงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (Harmonized test score) โดยไทยได้ 427 คะแนน ขณะที่เวียดนามได้ 519 คะแนน ซึ่งความต่างของคะแนนข้างต้นส่งผลให้เวียดนามมีตัวเลขจำนวนปีการศึกษาเมื่อปรับด้วยความรู้ที่ได้จริงจากการเรียน (Learning-adjusted school year) สูงกว่าไทยเช่นกัน คือ 10.7 ปีต่อ 8.7 ปี หรือพูดง่าย ๆ ว่า ภายใต้สภาพความเป็นอยู่เดียวกัน นักเรียนชาวเวียดนามอายุ 17 ปีมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพมากกว่านักเรียนไทยอยู่ 2 ปี
ในส่วนของทักษะด้านวิชาชีพ เวียดนามมีจำนวนแรงงานที่ผ่านการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ 4.7 ล้านคน (8.2% ของแรงงานทั้งหมด) มากกว่าจำนวนแรงงานทักษะวิชาชีพชาวไทยซึ่งอยู่ที่ 3.6 ล้านคน (9.2% ของแรงงานทั้งหมด) สำหรับด้านอุดมศึกษา ไทยมีสัดส่วนแรงงานระดับอุดมศึกษาสูงกว่าเวียดนาม แต่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของแรงงานกลุ่มดังกล่าวถือวุฒิการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูด FDI ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้จากข้อมูลของ UNESCO เผยว่ามีชาวเวียดนามเพียง 29% เท่านั้นที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปี 2016 เทียบกับ 49% ในไทย อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนประชากรที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่า แต่ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของไทยเผยว่ามีเพียง 23% เท่านั้นที่จบการศึกษาวิชาเอกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิศวกรรมในปี 2019 โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์
เวียดนามทำ FTA มีมากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า
ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าจำนวนประเทศที่เวียดนามทำ FTA มีมากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า ซึ่งทาง EIC ก็ระบุว่าเวียดนามมี FTA กับประเทศคู่ค้ารวม 51 ประเทศ ในขณะที่ไทยมีเพียง 17 ประเทศ
แม้ล่าสุดทั้งไทยและเวียดนามจะได้เข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) แต่โดยรวมเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่มีผลบังคับใช้กับคู่ค้ารวม 51 ประเทศ ซึ่งมากกว่าไทยซึ่งมีข้อตกลงการค้ากับ 17 ประเทศถึง 3 เท่า นอกจากข้อตกลงการค้าแล้ว FTA แบบพหุภาคีในระยะหลัง เช่น RCEP CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) และ EVFTA (EU-Vietnam FTA) มีตัวบทด้านการลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งไทยเป็นสมาชิกแค่เพียง RCEP เท่านั้น
ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งข้อตกลงการค้าเสรีฉบับสำคัญของเวียดนาม โดยข้อตกลงนี้ช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามผ่านการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่มีขนาดใหญ่ได้ ข้อตกลง EVFTA ช่วยให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปในปี 2562 เติบโตขึ้นถึง 38.6% และทำให้สัดส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (EU27) เพิ่มขึ้นเป็น 33.3% จากเดิมเคยอยู่ที่ 23.7% ในปี 2558 สวนทางกับของไทยที่สัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่ม EU27 ลดลงเหลือเพียง 13.1% จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 16.3% ในปี 2558
3 ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามพัฒนา
นายปิติ ศรีแสงนามผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดและระบบการปกครองที่เมื่อกำหนดแผนหรือแนวทางการพัฒนาประเทศแล้ว จะเดินหน้าตามแผนประกอบกับระบบการปกครองแบบสังคมนิยมที่สั่งการจากส่วนกลางได้ทำการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ส่วนปฏิรูปจริงจัง ได้แก่
1.การปฏิรูปกฎหมายโดยใช้กระบวนการ Regulatory guillotine ตั้งแต่ปี 2550-2551 โดยโละกฎหมายล้าสมัย รวมกฎหมายที่ซ้ำซ้อนและร่างกฎหมายใหม่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนสอดคล้องสากล ซึ่งใช้มาตรฐานองค์กรการค้าระหว่างประทศ (WTO) ทำให้ลดต้นทุนเอกชนได้ปีละ 1.4 พันล้านดอลลาร์
2.สนับสนุนบรรยากาศและการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี โดยเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับกับ 53 ประเทศ ขณะที่ไทยมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เวียดนามจึงดึงการลงทุนได้มากกว่า
3.เวียดนามให้ความสำคัญในการพัฒนาคนต่อเนื่อง ทำให้มีแรงงานตรงความต้องการของผู้ประกอบการที่ลงทุนในประเทศ
การศึกษาและนวัตกรรมของเวียดนาม
นางโดมินิเก อองล์ตเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญโครงการอาวุโส สถาบันระหว่างประเทศเพื่อวางแผนการศึกษา (ไอไออีพี) กล่าวกับเว็บไซต์เวียดนามเน็ตเมื่อเดือน ม.ค.ถึงการพัฒนาระบบการศึกษาของเวียดนามช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่าการศึกษาเวียดนามเปลี่ยนหลายอย่าง ให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
ด้านนวัตกรรม ด้านองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2563 ระบุว่า เวียดนามครองอันดับ 42 จาก 131 ประเทศในดัชนีนวัตกรรมโลก (จีไอไอ) ด้วยคะแนน 37.12 เต็ม 100 เป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และเป็นอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่เป็นที่ 1 ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ 29 ประเทศ
ปัจจุบัน บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ล้วนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเวียดนาม ส่วนหนึ่งเพราะได้เปรียบต้นทุนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการผลิต ทั้งมีแรงงานอายุน้อย มีความรู้ดีด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม รายงานแนะว่า หากเวียดนามต้องการเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัย จะต้องทุ่มเททรัพยากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาขั้นสูงให้มากกว่านี้
ระบบโลจิสติกส์ของเวียดนามดีขึ้น
ระบบโลจิสติกส์ภายในของเวียดนามเริ่มพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง โดย EIC ระบุว่ารัฐบาลเวียดนามได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน จากรายงานดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ปี 2561 โดยธนาคารโลก เปิดเผยว่าเวียดนามได้อันดับที่ 39 จาก 160 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากอันดับ 64 ในปี 2559 ขณะที่ไทยได้อันดับ 32 ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 45 ในปี 2559
นอกจากนี้ EIC ชี้ว่า เวียดนามยังมีพรมแดนติดกับจีน ลาว และกัมพูชา และมีชายฝั่งทอดยาวจากเหนือจรดใต้ของประเทศทำให้มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้า เพราะสามารถขนส่งสินค้าทางบกมายังจีนและอาเซียน ทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าทางเรือได้สะดวกกว่าฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย
อีกทั้งเวียดนามมีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อสนับสนุนโลจิสติกส์ โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนแล้ว เช่น การก่อสร้างถนนหลวง สะพาน และทางรถไฟ การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในนครโฮจิมินห์ และฮานอย การก่อสร้างและพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการยกระดับท่าเรือน้ำลึก แม้ในเชิงภูมิศาสตร์
สนามบินแห่งใหม่ของเวียดนาม
เวียดนามยังได้เริ่มสร้างสนามบินลองแถ่ง (Long Thanh) ในจังหวัดด่งนาย เป็นเฟสแรก ซึ่งสนามบินแห่งนี้จะกลายเป็นสนามบินใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดให้บริการในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยการก่อสร้างเฟสแรกนี้มีมูลค่า 4,660 ล้านเหรียญฯ สนามบินแห่งนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสาร 25 ล้านคน และรองรับการขนส่งสินค้าได้ 1.2 ล้านตันต่อปีและเมื่อทั้งโครงการเข้าสู่การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 100 ล้านคนต่อปี และจะใช้ทุนในการก่อสร้างรวมทั้งหมด 15,000 ล้านเหรียญฯ ส่วนสนามบินเติ่นเซินเญิตของนครโฮจิมินห์ สนามบินแห่งชาติเดิมซึ่งรองรับผู้โดยสารจนเกินขีดจำกัดตั้งแต่ปี 2558 จะถูกใช้เป็นสนามบินภายในประเทศต่อไป
เวียดนามเดินหน้าพัฒนา ฮาลองเบ สร้างตึกที่สูงที่สุดในอาเซียน
จากเว็บไซต์ phuson.vn เวียดนามเดินหน้าพัฒนาฮาลองเบ โดยวางแผนสร้างตึกที่สูงที่สุดในอาเซียนมีความสูงเทียบเท่าตึก 99 ชั้น สูง 540 เมตร และจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองฮาลอง โดยออกแบบและสร้างโดย Gensler USA และ ARUP ของ UK.
การลงทุนของต่างชาติในเวียดนาม
Foxconn ผู้ผลิต iPhone ย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม
Apple ได้ร้องขอให้ Foxconn ย้ายฐานไลน์การผลิต MacBook และ iPad ของพวกเขาจากจีนไปประเทศเวียดนาม เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล่าสุด รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติให้ Foxconn มาก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่คาดน่าจะมีมูลค่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากถึง 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนที่ Foxconn จะย้ายไปตั้งที่เวียดนาม จะถูกสร้างโดยบริษัท Fukang Technology และตั้งอยู่บริเวณตอนบนของ
จังหวัดบั๊กซาง Bac Giang และมีกำลังผลิตชิ้นส่วนต่างๆ มากถึง 8 ล้านยูนิตต่อปี ซึ่ง Foxconn ได้ลงทุนเม็ดเงินกับประเทศเวียดนามไปแล้วถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังได้วางแผนจะระดมทุนอีกกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งเตรียมจะรับสมัครพนักงานเพิ่มอีก 10,000 คนด้วย
โรงงานที่เวียดนามแห่งนี้ ถือเป็นโรงงานแรกของ Foxconn ที่ผลิตงานให้กับ Apple นอกประเทศจีน โดยนอกเหนือจากเวียดนามแล้ว Foxconn ได้วางแผนพิจารณาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศอินเดียและเม็กซิโก
ที่มา scbeic