
คนไทยฆ่าตัวตายอันดับ 1 ในอาเซียน อัตราฆ่าตัวตายคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แซงขึ้นอันดับต้นๆของโลก
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละปีอยู่ที่ 14.4 คนต่อ 100,000 คน ซึ่งเป็นอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกในปัจจุบันที่ 10.5 คนต่อ 100,000 คน อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยที่พุ่งสูงขนาดนี้ ยังทำสถิติสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยพบว่า ถ้าเปรียบเทียบกับแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 3.2 คนต่อ 100,000 คน และประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 11.2 คน ต่อ 100,000 คน
ทุกๆ 10 นาที จะมีความพยายามในการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย พบว่าทุกๆ 10 นาที จะมีความพยายามในการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในประเทศไทย สะท้อนถึงภาวะการฆ่าตัวตายของไทยมีมากกว่าอัตราเฉลี่ยการฆ่าตัวตายในประเทศที่พัฒนาแล้ว
นับแต่การระบาดโควิด-19 ผลกระทบ “เศรษฐกิจถดถอย” ทรุดตัวรุนแรง ไม่มีวี่แววจะฟื้นกลับคืนปกติในเร็ววัน “คนไทย” ไม่น้อยต้องตกเป็นผู้ว่างงานอย่างกะทันหันไม่มีรายได้ใช้หนี้สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะคนไม่มีเงินเก็บที่ไม่มีช่องทางทำมาหากินต้องเผชิญกับสถานะทางการเงินที่ตึงตัวเพิ่มสูงขึ้น ภาวะตึงเครียดทั้งเรื่องหนี้สินและค่าครองชีพทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นอย่างมากมาย
ภาวะการฆ่าตัวตายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในปี 2563 หรือปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยพบกับการรระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,551 ภายในระยะเวลาครึ่งปีแรกของปี 2020 หรือเฉลี่ยฆ่าตัวตายวันละ 14 ราย จำนวนการฆ่าตัวตายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกัน หรือใน 6 เดือนแรกของปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่พบการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นในจีนแผ่นดินใหญ่
แม้กระทั่ง “ยุควิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540” ที่มีสถิติการฆ่าตัวตายค่อนข้างสูงแล้ว โดยเฉพาะในช่วงปี 2542 มีอัตราตัวเลขจุดสูงสุดของไทยอยู่ที่ 8.6 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน แต่ก็ยังน้อยกว่าปัจจุบันที่เกิดวิกฤตโควิด-19
อันโตนิโอ แอล แรพโป้ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมืองไทยกว่า 20 ปี เปิดมุมมองเชิงวิเคราะห์ว่า อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม หากตัดปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจ จะพบว่าคนไทยมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ทางจิตใจมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะแนวคิดว่าด้วยเรื่องความตาย
นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเชิงสังคมในไทย ล้วนมองว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เนื่องจากธุรกิจปิดตัวลงจากมาตรการรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว นอกจากนี้ มาตรการในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินที่มีต่อประชาชนที่ยากจนและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำอย่างเลวร้าย ล้วนติดข้อจำกัด ข้อกำหนด และวิธีการในการให้ความช่วยเหลือให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 และมีการปิดล็อกระดับประเทศ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยทรุดดำดิ่งถึง -6.1% ทำสถิติเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในรอบ 22 ปี หรือนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจย่ำแย่เป็นอันดับ 2 จากอันดับท้ายสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
ในช่วงที่มีโควิดระบาด ก็มีการให้ความช่วยเหลือผู้ที่จะฆ่าตัวตาย เช่น หน่วยงานที่เรียกว่าสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย เป็นสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยมีอาสาสมัครจากหลายอาชีพ ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่นี้โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
นอกจากนี้ นายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ที่เป็นทั้งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต ก็ยังต้องเพิ่มคู่สายเป็น 20 สายให้คนสามารถโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาได้ เนื่องจาก ผู้โทรเข้ามาต้องรอสายยาวนาน 10-12 นาที ก่อนจะมีใครสักคนมารับสาย นพ. วรตม์ ระบุว่า ไม่มีใครต้องการรอจนกว่าคนจะมารับสาย เขาต้องการรอสายแค่ภายใน 5 นาทีเท่านั้น
ภาพจาก Shutterstock
อย่างไรก็ดี ภาครัฐก็มีสิ่งที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตให้บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคสามารถครอบคลุมเรื่องนี้ได้ด้วย เรื่องนี้ อมรเทพ สัจจะมุณีวงศ์ก็เคยเจอปัญหา ผ่านประสบการร์เป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน
เขาพูดถึงช่องว่างของเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานด้านสุขภาพจิตขาดแคลน ระยะเวลาการรอคอยที่ยาวนานถ้าต้องการรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐ ไปจนถึงหากคิดจะรักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็มีราคาค่อนข้างแพงอีก เขายังได้สร้างแอปพลิเคชันที่เรียกว่า Sati เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้งานที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตไว้คุยกับคนที่ได้รับการฝึกฟังมาบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ภาครัฐได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจที่เรียกว่า Hope Task Force โดยใช้แพตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, TikTok และ Line เพื่อสือสารกับคนที่ประสบปัญหาอยู่ ซึ่งก็จะมีการจัดเตรียมช่องทางให้อาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตให้สามารถพูดคุยกันได้ นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up ที่ผู้ใช้งานสามารถตอบคำถามเช็คสุขภาพจิตทั้งเรื่องหมดไฟในการทำงาน ความเครียด รวมถึงอาการซึมเศร้าด้วย
ภาพจาก Unsplash
นพ.วรตม์ ระบุว่า เรื่องการฆ่าตัวตายและประเด็นเรื่องสุขภาพจิตควรจะเป็นปัญหาของทุกคนด้วย เขาบอกว่าปัจจุบัน เราขาดทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตในไทย เพราะโควิด-19 ระบาด แต่เราสามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการเชิญภาคีหลายฝ่ายและพูดคุยกับผู้คนจำนวนมากเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหา สำหรับคนที่มีปัญหาต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต สามารถโทรสายด่วนที่กรมสุขภาพจิตเบอร์ 1323 หรือเบอร์สมาคมสมาริตันส์เบอร์ 02-713-6793
หรือ www.samaritansthai.com
