DBD

วิธีจดทะเบียนการค้าออนไลน์และขอเครื่องหมาย DBD

ในยุคนี้การซื้อขายออนไลน์เข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น และทำให้หลายคนหันมาขายของออนไลน์ โดยเฉพาะการขายสินค้าและบริการผ่านเว็บไซต์หรือ Market place eCommerce เช่น Shopee Lazada และช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่าง facebook และ Instagram เพราะสามารถเปิดร้านได้ฟรี การจัดการง่าย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เยอะกว่า แต่สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ละเลยไปก็คือการจดทะเบียนการค้า สิ่งสงสัยพ่อค้า แม่ค้า สงสัยว่า การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือจดทะเบียนการค้าออนไลน์ ต้องทำยังไง? เครื่องหมาย DBD Registered คืออะไร? ขอเครื่องหมาย DBD Registered ยังไง? และ DBD Registered กับ DBD Verified ต่างกันอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

วิธีจดทะเบียนการค้าออนไลน์และขอเครื่องหมาย DBD

ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้อง จดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์สําหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดังนี้

  1. การซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  2. การบริการอินเทอร์เน็ต
  3. การให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
  4. การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น Shopee, LAZADA, Facebook

** บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ฯ ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษปรับเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกกฎระเบียบให้ร้านค้าไม่ว่าจะเป็นร้านที่มีที่ตั้งหรือแม้แต่ร้านขายของออนไลน์ต้องทำการจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ยังมีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพราะไม่รู้ว่าต้องจด หรือไม่เห็นความสำคัญของการจดทะเบียนการค้า

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์อย่างไร?

  1. สร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าในการซื้อสินค้า/บริการ ความมีตัวตนของผู้ประกอบการ มีสถานที่ตั้งของสำนักงาน ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ เพราะสามารถรู้หรือทราบได้ว่าผู้ประกอบการเป็นใคร อยู่ที่ไหน กรณีมีปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ สามารถตรวจสอบการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้
  2. ผู้ประกอบการสามารถขอรับเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Registered และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  3. ได้รับสิทธิ์ในการเข้ารับการพัฒนาตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ บริหารและการตลาดแบบฟรีๆ
  4. ช่วยสร้างเครดิตให้กับร้านเรากับสถาบันการเงิน เราสามารถใช้ทะเบียนร้านค้าพาณิชย์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเอกสารทางการเงินกับสถาบันทางการเงินได้

การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เสียภาษี แต่หากประกอบกิจการแล้วเกิดรายได้ ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด บางคนไม่อยากจดทะเบียนการค้าเพราะกลัวว่าร้านออนไลน์ของเราต้องเสี่ยงโดนเรียกเก็บภาษี ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี แต่ถ้าเราทำไม่ถูกต้องมีโอกาสที่สรรพากรตรวจสอบย้อนหลังขึ้นมาค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียย่อมไม่คุ้มกันแน่นอน เพราะฉะนั้นจดทะเบียนการค้าไว้ให้ถูกต้องจะดีกว่า

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการจดทะเบียนพาณิยช์อิเล็กทรอนิกส์

  1. สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
  2. คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) คลิกเพื่อดาวน์โหลด
  3. เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.) คลิกเพื่อดาวน์โหลด
  4. เอกสารการจดโดเมนเนม (กรณีที่มีเว็บไซต์ และชื่อผู้จดทะเบียนโดเมนเนม ต้องเป็นชื่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์) Print หน้าแรกของเว็บไซต์ , สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  5. วาดแผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ
  6. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)
  7. หนังสือมอบอํานาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสําเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอํานาจ (กรณีมอบอํานาจ)
  8. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือ สัญญาเช่า
  9. สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ เอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

หากในกรณีที่คุณมีสินค้าที่มีการจดชื่อและโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบบริษัทจะต้องยื่นจดทะเบียนในการเปลี่ยนชื่อและโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าใหม่

รายละเอียดสามารถดูได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจ ttps://www.trustmarkthai.com/

สถานที่จดทะเบียนพาณิยช์อิเล็กทรอนิกส์สําหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  • เขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ ฝ่ายปกครอง สํานักงานเขต 50 เขต (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ) หรือ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ศาลาว่าการ กทม. (ครอบคลุมทั้ง 50 เขต)
    รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง โทร. 0-2224-1916, 0-2225-1945 หรือที่ ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง และที่เว็บไซต์ www.bangkok.go.th/fiic
  • จังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ)

ถ้าเป็นการจดทะเบียนธุรกิจบริษัทจำกัด หากอยู่กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1-5 และส่วนจดทะเบียนกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
หากเป็นต่างจังหวัดจึงจะยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนั้นๆ

เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จ สิ่งที่จะได้รับคือ

  1. ใบทะเบียนพาณิชย์ (แบบ พค. 0403) ตัวอย่างใบทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  2. ใบเสร็จค่าธรรมเนียม

เครื่องหมาย DBD REGISTERED คืออะไร?

คือเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ออกให้เจ้าของเว็บไซต์ E-Commerce โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เครื่องหมาย DBD Registered ที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์จะช่วยยืนยันว่าร้านมีตัวตนอยู่จริง เจ้าของตามตัวได้ และตรวจสอบได้ ลูกค้ามั่นใจมากขึ้นในการซื้อสินค้าหรือบริการ เวลาเกิดอะไรขึ้นลูกค้าก็จะอุ่นใจ ร้านค้าที่ผ่านการจดทะเบียนและได้เครื่องหมายนี้มาประดับร้านค้าแล้ว ยังได้สิทธิพิเศษอื่นๆอีกมากมาย เช่น ชื่อร้านค้าจะถูกรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ของกรมฯ เวลามีคน Google ชื่อร้านของเรา ก็จะเจอง่ายขึ้น และรู้สึกว่าน่าเชื่อถือมากขึ้นเวลาหาเจอจากเว็บเรา

เอกสารในการขอ DBD REGISTERED

ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับรองต้องแสดงหลักฐานการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นไฟล์เอกสารแนบต่อกรม ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (พค.0403) พร้อมลงนามสำเนาถูกต้อง
– เอกสารที่แสดงว่าได้จัดทำร้านค้าออนไลน์แล้ว หรือชื่อทางออนไลน์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (URL) 
2 นิติบุคคล
– หนังสือรับรองนิติบุคคล หรือสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (พค.0403) พร้อมลงนามสำเนาถูกต้องและประทับตราสำคัญ
– เอกสารที่แสดงว่าได้จัดทำร้านค้าออนไลน์แล้ว หรือชื่อทางออนไลน์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (URL) 
3 กรณีอื่นๆ
– เอกสารการเป็นสมาชิกสมาคมการค้า หอการค้า เป็นต้น

ยื่นขอเครื่องหมาย DBD REGISTERED ได้ที่ไหนบ้าง?

  1. ต้องการยื่น Online 
  2. ต้องการเดินทางไปยื่นด้วยตัวเอง ที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ตั้งอยู่ที่ จ.นนทบุรี) โทร. 02-547-5959-61

ขอ DBD REGISTERED ใช้เวลากี่วัน

ใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ (นับจากวันที่กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับเอกสาร)
ถ้านานกว่านั้น ลองโทรไปถามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เครื่องหมาย DBD REGISTERED ต่างกับ DBD VERIFIED อย่างไร

DBD REGISTERED และ DBD VERIFIED

เครื่องหมาย DBD Registered คือรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ว่าผู้ประกอบการมีตัวตนอยู่จริง

เครื่องหมาย DBD Verified คือรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องจดทะเบียนและมีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดย DBD VERIFIED เป็นการจดทะเบียนการค้าสำหรับนิติบุคคล ที่จะต้องจด DBD REGISTER มาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องมีการบริหารเว็บไซต์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กําหนดเท่านั้น ดังนั้นเครื่องหมาย DBD Verified มีความน่าเชื่อถือสูงกว่า DBD Registered

ถ้าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่มีความรู้เรื่องจดทะเบียนการค้าไม่รู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร หรือเสียเวลามาจัดการด้านนี้ ลองใช้บริการจะฟรีแลนซ์ในเว็บ https://fastwork.co/commercial-registration ซึ่งทำให้เสร็จทุกอย่าง เวลาจ้างขอให้ดูให้ดีว่าได้ครบถ้วนหรือเปล่า ทั้งจดทะเบียนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องหมาย รับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Registered