ธปท.ต่อเวลา “พักหนี้” ให้ถึงสิ้นปี 2563 หนุนปรับโครงสร้างหนี้บรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน

4174
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท. ประกาศต่อเวลา “พักหนี้” ถึงสิ้นปี 2563 ให้แบงก์คงสถานะลูกหนี้ไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล” เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ นับหนึ่งใหม่ ม.ค. 2564 พร้อมเปิดทางให้กลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายไหว ขอพักหนี้ต่อได้ถึงสิ้น มิ.ย. 2564

งัดแผนแก้หนี้ครบวงจร

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไป จะเน้นการช่วยเหลือแบบตรงจุด (targeted) ครบวงจร (comprehensive) และ ยืดหยุ่น (flexible) โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียงและผลระยะยาว การแก้ปัญหาจะไม่ใช้เพียงซอฟต์โลนการให้สินเชื่อ แต่จะ ทำให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็ว ท้ายที่สุดคือ การจัดการกับเอ็นพีแอลโดยใช้กลไกต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องมีเครื่องมือหลากหลาย เพราะการฟื้นตัวครั้งนี้ใช้เวลายาวและมีความไม่แน่นอนสูง

“โจทย์ไม่ใช่เฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ต้องมองไปใน 2 ปีข้างหน้าว่าจะเจออะไรบ้าง และจะมีเครื่องมืออะไรมารองรับ ไม่ใช่แค่การแช่แข็งหนี้และให้สินเชื่อ แต่ต้องทำให้การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเร็ว และท้ายที่สุดวิธีการจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมถึงต้องมีเครื่องมือครบและหลากหลาย เพราะปัญหายาวและมีความไม่แน่นอนสูง”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องคิดถึงผลข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาระยะสั้นบั่นทอนการฟื้นตัวในระยะยาว เช่น มาตรการพักหนี้ที่จะสิ้นสุด 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นประกาศช่วงที่มีการล็อกดาวน์ จึงแช่แข็ง แต่เวลาผ่านไปมีการฟื้นตัว ทำให้การแช่แข็งไม่ใช่โจทย์ จึงหันมาทำมาตรการให้ตรงจุด และแยกแยะ เช่น คนที่ผ่อนไหวผ่อนได้ หรือกลุ่มคนที่ชำระไม่ได้ก็มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และให้เวลามาคุยกับธนาคารถึงสิ้นเดือน ธ.ค. หรือกลุ่มคนที่มีปัญหากระแสเงินสดก็สามารถคุยกับธนาคารเพื่อต่อมาตรการพักชำระหนี้ได้ 6 เดือน ถึง มิ.ย. 2564
“ผลข้างเคียงมีเยอะ และหากเราสร้างแรงจูงใจไม่ได้ จะกลายเป็นวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ moral hazard ซึ่งอันตรายมาก และขยายวงกว้างจะไม่ดีต่อระบบ และหากพักหนี้นาน 1 ปี กระแสเงินสดจะหายไปจากระบบปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะเราต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วยนอกจากลูกหนี้ เช่น ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน และ ธปท.จะมีแนวทางอื่น ๆ ที่จะทำให้สอดคล้อง แต่แนวทางการดูแล ยาที่จะออกมาเพิ่มเติมกำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่สักแต่คลอดมาตรการ แต่ยาต้องได้ผลด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเร่งด่วน”

ปรับโครงสร้างหนี้บรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินของคนไทย ทำให้มีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 83.8% ต่อจีพีดี หรือคิดเป็นมูล่า 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 ที่อยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 13.49 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ ธปท.ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่เป็นลูกหนี้สามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับรูปแบบของสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง และส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่ไปด้วย

ในขณะที่ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ก็แถลงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของกระทรวงการคลัง โดยแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม
1.กลุ่มที่กลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ 60%
2.กลุ่มที่กลับมาดำเนินธุรกิจได้แต่ยังไม่ฟื้นตัวดี 30%
3.กลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้และขาดสภาพคล่อง 4%
4.กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน 6%
รัฐมนตรีอาคม เปิดเผยว่า กลุ่มลูกหนี้ในกลุ่มที่ 3–4 มีมูลหนี้รวมกัน 100,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังจะให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดำเนินการ “ยืดหนี้” ให้ โดยให้แต่ละบอร์ดของธนาคารไปพิจารณาแล้ว ส่วนที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการ ประสานงานกับธนาคารทั้งหมด รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสรุปมาตรการ เสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า ก็ต้องถือเป็นข่าวดีของลูกหนี้ทั้งหลาย ฉะนั้นลูกหนี้อีก 6% ที่ไม่ยอมติดต่อกับแบงก์ ก็ควรจะรีบติดต่อกับแบงก์ด่วน เพื่อรับความช่วยเหลือก่อนที่จะถูก “ขึ้นบัญชีดำ” กลายเป็นคนที่กู้เงินแบงก์ไม่ได้อีกต่อไป

คุณผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ก็เปิดเผยว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีมาตรการช่วยต่อเนื่อง ผ่าน มาตรการพักหนี้ หรือ มาตรการอื่นแล้วแต่ลูกค้า เช่น การยืดตารางการชำระหนี้ ลดวงเงินชำระหนี้ ลดคืนเงินต้น/ดอกเบี้ยและค่างวดบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่ม 10% ที่ส่วนใหญ่อยู่ใน กลุ่มธุรกิจโรงแรม เพราะการฟื้นตัวครั้งนี้ เป็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละเซกเตอร์ แต่ละธุรกิจ แต่ละภูมิภาค การช่วยเหลือจึงต้องดูในรายละเอียด แบงก์ชาติก็ให้เวลาแบงก์ในการคงสถานะลูกหนี้ไปถึงสิ้นปี

ที่มา mgronline.com / prachachat