FTC สหรัฐ ยื่นฟ้อง Facebook ข้อหาผูกขาดตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ค

3271

คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ หรือ Federal Trade Commission (FTC) ฟ้อง ‘เฟซบุ๊ก’ ผูกขาดตลาดโซเชียลมีเดีย เล็งบังคับขาย ‘Instagram-WhatsApp’

FTC สหรัฐ ยื่นฟ้อง Facebook ข้อหาผูกขาดตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์ค

บีบีซีรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ ได้ฟ้องเฟซบุ๊ก บริษัทโซเชียลยักษ์ใหญ่ ประเด็นการผูกขาดทางการค้าหลังฮุบอินสตาแกรมและวอทส์แอพพ์ในปี 2555 และ 2557 ส่งผลให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่รายที่ 2 ที่ถูกดำเนินคดีฐานผูกขาดการค้า หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง ‘กูเกิล’ เมื่อเดือน ต.ค. โดยกล่าวหาบริษัทซึ่งมีมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านดอลลาร์ว่าใช้ระบบผูกขาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายในการแข่งขันของตลาดด้านเทคโนโลยี การค้นหา และการโฆษณา ผู้คุมกฎทั้งระดับรัฐและรัฐบาลกลางเรียกร้องให้ศาลสั่งเฟซบุ๊กแยกกิจการออกจาก Instagram และ WhatsApp ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้อ

FTC ระบุในคำฟ้องว่า เฟซบุ๊กมีพฤติกรรมผูกขาดจากการเข้าซื้อกิจการ Instagram เมื่อปี 2012 ด้วยวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกิจการ WhatsApp ด้วยวงเงิน 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014 อีกทั้ง Facebook ยังเคยเจรจาเข้าซื้อ Social Media คู่แข่งอย่าง Twitter และ Snapchat อีกด้วย ถึงแม้จะไม่ประสบความสําเร็จก็ตาม

เอียน คอนเนอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานกำกับการแข่งขันของ FTC ระบุว่า “กลยุทธ์ผูกขาดของของเฟซบุ๊กทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในตลาด และ FTC ต้องการบังคับให้เฟซบุ๊กต้องหยุดพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน เพื่อให้นวัตกรรมและการแข่งขันอย่างเสรีสามารถดำเนินต่อไปได้”

FTC บอกว่า Facebook มีพฤติกรรมปิดกั้นการแข่งขันมายาวนานและทำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การไล่ซื้อบริษัทที่มีโอกาสมาเป็นคู่แข่งในอนาคต ทั้ง WhastApp, Instagram และกำหนดเงื่อนไขใน API ว่าห้ามนำไปใช้ทำฟีเจอร์บางอย่างแข่งกับ Facebook รวมถึงห้ามใช้โปรโมทหรือเชื่อมต่อกับบริการโซเชียลอื่นๆ ยิ่งทำให้ Facebook ผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดของโลก มีกำไรมหาศาล

ในคำฟ้องนี้ FTC ร่วมกับอัยการจาก 46 รัฐทั่วอเมริกา และ 2 เขตพิเศษร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลเขต DC ขอให้สั่งแยกธุรกิจ Instagram กับ WhatsApp ออกมา, ให้ศาลสั่งห้าม Facebook กำหนดเงื่อนไขบีบนักพัฒนา, และ Facebook ต้องยื่นขออนุมัติการซื้อกิจการในอนาคต

กรณีการยื่นฟ้อง “เฟซบุ๊ก” ต่อศาลรัฐบาลกลางครั้งนี้ นับเป็นกรณีที่ 2 ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสื่อสารต้องเผชิญกับคดีความครั้งสำคัญ หลังจากที่กระทรวงยุติธรรม “สหรัฐฯ” เคยยื่นฟ้องบริษัท “อัลฟาเบต” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “กูเกิล” ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดลักษณะเดียวกับ “เฟซบุ๊ก”

ฝั่ง Facebook ตอบโต้ FTC ว่าการซื้อ Instagram และ WhatsApp เป็นการซื้อเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกแล้ว กรณีของ Instagram ได้ FTC เป็นคนอนุมัติเองด้วยซ้ำ คดีลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อน และจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ FTC ต้องการกลับไปแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองเคยอนุมัติไปแล้วในอดีต

Facebook ยังบอกว่าเราซื้อ Instagram มานาน 8 ปีแล้ว ซึ่ง Instagram ที่ทุกคนใช้อยู่ทุกวันนี้คือ Instagram เวอร์ชันที่ Facebook สร้าง ไม่ใช่เวอร์ชันที่ซื้อมาเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น Instagram ยังมีพนักงานแค่ 13 คนเท่านั้น และกรณีของ WhastApp ก็เป็นแบบเดียวกัน

ส่วนเรื่อง API ที่ปิดกั้นคู่แข่ง เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว โดย Facebook อ้างว่าบริษัทอื่นๆ อย่าง LinkedIn, Pinterest, Uber ก็มีเงื่อนไขแบบนี้ และคู่แข่งรายอื่นๆ อย่าง YouTube, Twitter, WeChat ก็ไม่มีปัญหาทางธุรกิจใดๆ โดยที่ไม่ต้องมี API ของ Facebook ด้วย

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก แจ้งต่อพนักงานเมื่อเดือน ก.ค. ว่าจะต่อสู้ความพยายามแยกกิจการในเครือเฟซบุ๊กจนถึงที่สุด

แม้การบังคับแยกกิจการจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ากรณีของเฟซบุ๊กนับว่ามีพฤติกรรมบ่งบอกชัดเจนถึงเจตนาในการผูกขาด โดยยกตัวอย่างถ้อยคำของ ซักเกอร์เบิร์ก ที่เขียนไว้ในอีเมลเมื่อปี 2008 ว่า “การซื้อดีกว่าการแข่งขัน” (It’s better to buy than compete)