หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง 84% ปัจจัยรุมเร้าทำเศรษฐกิจไทยบอบช้ำรุนแรง

1215

– หนี้ครัวเรือนไตรมาสสอง พุ่งแตะ 84% พุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี
– หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคแสดงถึงการใช้จ่ายเกินตัว
– เศรษฐกิจไทยติดลบเนื่องจากโควิทซ้ำเติมภาระหนี้

หนี้ครัวเรือน

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาสสอง พุ่งแตะ 84% ธปท.แจงหนี้พุ่ง เหตุจีดีพีหดตัวสูง และมาตรการพักหนี้ ทำให้มูลหนี้ไม่ลด

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีการเปิดข้อมูลสถิติ เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2ปี 2563 โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือน ที่ปรับฤดูกาลแล้ว พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 84%  เพิ่มขึ้น 3.7% หากเทียบกับไตรมาสแรกปี 2563 ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 80.3% 
ซึ่งหากดูมูลหนี้ขอหนี้ครัวเรือน พบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ ราว 92,182 ล้านบาท หรือ 0.68%

ด้าน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาก มาจากจีดีพีที่หดตัวสูงเป็นสำคัญ สำหรับยอดเงินต้นแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย โดยยอดเงินต้นที่ยังไม่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 7.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 4.0 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า IMF ยังเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ขณะที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หนี้ครัวเรือนคืออะไร

ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้ครัวเรือน หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ โดย ข้อมูลหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่ ธปท. เก็บข้อมูลได้
ดังนั้น หนี้ครัวเรือนในที่นี้จึงไม่รวมหนี้นอกระบบ โดยทั่วไปแล้ว หนี้ครัวเรือนหากอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจการเงิน (เช่น การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร) ย่อมจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านเงินกู้ยืมที่ครัวเรือนนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคหรือประกอบธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานจนไม่สอดคล้องกับระดับรายได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนจนเป็นปัญหาต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ได้

โครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทย

หนี้ครัวเรือน2

โครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในระยะสั้นขณะที่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยหนี้เพื่อที่
อยู่อาศัยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 34 ของหนี้รวมแตกต่างกับประเทศอื่นที่สัดส่วนหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้รวมตามภาพด้านบนไตรมาสที่ 2 ปี 2562

หนี้ครัวเรือน3

โครงสร้างหนี้ที่มีสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลสูงกว่าประเทศอื่น มีส่วนทำให้ครัวเรือนไทยมีภาระผ่อนชำระต่องวดสูง เนื่องจากหนี้ประเภทดังกล่าวส่วนใหญ่มีระยะเวลาผ่อนชำระสั้นและมีอัตราดอกเบี้ยสูง จากการวิเคราะห์ภาระในการชำระหนี้รายเดือนของครัวเรือนไทยพบว่าร้อยละ 42 เป็นการชำระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้ครัวเรือนได้ในระยะยาว เนื่องจากหนี้ประเภทนี้เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งแตกต่างจากหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่าการมีภาระหนี้ อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในสัดส่วนที่สูง สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวหรือเกินความสามารถในการหารายได้ นอกจากนี้ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลส่วนหนึ่งไม่มีหลักประกัน ซึ่งหากครัวเรือนเผชิญกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้(income shock) อาจส่งผลให้ครัวเรือนประสบปัญหาสภาพคล่องรุนแรง เนื่องจากยังต้องรับภาระในการชำระหนี้คืนเต็มมูลค่า

ที่มา www.bot.or.th