ภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ (23 มี.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,024.46 จุด ลดลง 102.78 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -9.12% มูลค่าการซื้อขาย 59,677.79 ล้านบาท
โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 มี.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดร่วงลง 913.21 จุด หรือ 4.55% แตะที่ระดับ 19,173.98 จุด เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้น ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐนิวยอร์กของสหรัฐประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ หยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 30 นาที เมือเวลา 15.25 น. หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลดลง 8% หรือลดลง 90.19 จุด โดยเปิดการซื้อขายอีกครั้ง 15.55 น.
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 12 วัน เนื่องจากมีแรงเทขายอย่างหนักจากภาวะความวิตกกังวลการระบาดของโควิด-19 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลงอีกรอบ ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับฐานแรงในวันนี้
ตลท. ได้ใช้เกณฑ์ “เซอร์กิตเบรกเกอร์” ใหม่แล้ววันนี้ครั้งแรก ระดับแรกลงเหลือ 8% จากเดิม 10% ช่วงที่ 2 เหลือ 15% จากเดิม 20% และเพิ่มอีกระดับหากลง 20% หยุดซื้อขาย 60 นาที พร้อมปรับกำหนดราคาซื้อขาย (ซิลลิ่ง-ฟลอร์) ของหุ้นเหลือ 15% จากเดิม 30% โดย เกณฑ์ใหม่นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.63
ตั้งแต่มีมาตรการ หยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวกรณี Circuit Breaker ตลาดหุ้นไทยได้ใช้ Circuit Breaker มาทั้งหมด 5 ครั้งดังนี้
ครั้งที่ 1 เมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เวลา 11.26 น.
SET Index วันนั้นลดลงไป 74.06 จุด หรือ 10.14% และหลังจากที่กลับมาซื้อขายอีกครั้งก็เกือบที่จะต้องพักการซื้อขายอีกรอบ เนื่องจากเพราะ SET Index ร่วงลงไปต่ำสุดที่ 142.63 จุด หรือ 19.52%
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ในสมัยที่ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรเทวกุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ด้วยการสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่ให้ดอกเบี้ย ผลของมาตรการนั้นทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ตกไปมากกว่า 100 จุดในหนึ่งวันและทำให้ต้องมีการพักการซื้อขายชั่วคราว ภายหลังจากการออกมาตรการไม่ถึงหนึ่งวัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวโดยยกเว้น เงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเงินลงทุนในอีกหลายประเภท
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกกันว่า แบงก์ชาติ 100 จุด หรือ อุ๋ย 100 จุด
ครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 14.35 น.
โดย SET Index วันนั้นลดลงไป 50.08 จุด หรือ 10.02%
ครั้งที่ 3 เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.04 น.
โดย SET Index วันนั้นลดลงไป 43.29 จุด หรือ 10%
โดยเหตุการณ์ครั้งที่ 2 และ 3 มาจากสาเหตุเดียวกันก็คือวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ของสหรัฐอเมริกา หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ครั้งที่ 4 เมื่อ 12 มี.ค. 2563 เวลา 14:38 น.
SET Index ลดลงไป 125.05 จุด คิดเป็น 10% และปิดตลาด ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด (-10.80%) มูลค่าการซื้อขาย 101,402.17 ล้านบาท
ครั้งที่ 5 เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 15.25 น.
SET Index ลดลง 90.19 จุด คิดเป็น 8% (เกณฑ์ใหม่) และปิดตลาด ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,024.46 จุด ลดลง 102.78 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -9.12% มูลค่าการซื้อขาย 59,677.79 ล้านบาท
โดยเหตุการณ์ครั้งที่ 4 และ 5 มาจากสาเหตุเดียวกันวิกฤต covid-19