
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยแนะจับตาหุ้นกู้เสี่ยง-เรตติ้งต่ำให้ผลตอบแทนสูง จ่อครบดีลปีนี้ 5 หมื่นล้านบาท เตือนนักลงทุนระวังเข้าซื้อ หลังเริ่มเห็นแนวโน้มหลายบริษัทใช้วิธีซิกแซ็กไม่จ่ายคืนเงินต้น-เรียกประชุมผู้ถือหุ้นขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยก่อน
ตลาดตราสารหนี้เป็นตลาดที่ตัดแบงค์พาณิชย์ออกไป แทนที่ผู้ออมจะเอาเงินไปฝากแบงค์ แล้วแบงค์เป็นตัวกลางเอาเงินฝากไปปล่อยกู้ เปลี่ยนเป็นผู้ใช้เงินออกขายตราสารหนี้ ส่วนผู้ออมก็ซื้อและได้ดอกเบี้ยโดยตรงไม่มีแบงค์เป็นตัวกลาง ประเทศที่ตลาดการเงินพัฒนามาก จึงมีตลาดตราสารหนี้ขนาดใหญ่ ปริมาณการซื้อขายใหญ่แต่ละวันเยอะมาก
ข้อมูลจาก TBMA ระบุว่าภาคเอกชนไทยระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้มูลค่าคงค้างรวมสูงถึง 13.52 ล้านล้านบาท (สินเชื่อในระบบแบงค์พาณิชย์ 16 ล้านล้านบาท)
เฉพาะในปี 2562 ภาคเอกชนออกตราสารหนี้กว่า 1 ล้านล้านบาท โดย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ในปี 2562 ตัวเลข TBMA ระบุว่านักลงทุนสากลมีการขายตราสารหนี้ โดยถึงแม้ตัวเลขรวมเป็นการขายสุทธิ แต่ในส่วนของตราสารหนี้ระยะยาว ก็ยังเป็นซื้อสุทธิ
ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในปี 2562 เป็นการไหลออกสุทธิ 84,452 ล้านบาท แต่มีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (52,456 ล้านบาท) แต่ขายออกสุทธิในมูลค่าที่สูงกว่าในตราสารหนี้ระยะสั้น (136,909 ล้านบาท)
ทำให้ ณ สิ้นปี 2562 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 991,779 ล้านบาท หรือเท่ากับ 10.49% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แต่ภาคเอกชนบางส่วนที่ออกตราสารหนี้ ซึ่งนำไปสู่ฟองสบู่ในการลงทุน ก็คือธุกิจอสังหาริมทรัพย์ มาถึงวันนี้ สาเหตุที่ตลาดตราสารหนี้ไทยราคาลดลงนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะต่างชาติขาย อีกส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมีการตั้งคำถามว่า วิกฤตโควิดจะนำไปสู่ไข้ NPL ด้วยหรือไม่
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปี 2563 นี้จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ของบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า investment grade หรือต่ำกว่า BBB- ที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) จะครบกำหนดอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างทั้งสิ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีอยู่ราว 60% เป็นหุ้นกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาทิ หุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีที่ดินหรืออาคารค้ำประกัน แต่ในกรณีหากมีการผิดนัดชำระหนี้ (default) กระบวนการในการฟ้องยึดทรัพย์ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
“นักลงทุนบางกลุ่มอาจจะใจชื้นว่ามีหลักทรัพย์ที่จับต้องได้ แต่เราพยายามเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังในการซื้อ โดยส่วนใหญ่ที่ครบกำหนดจะเป็นบริษัทจดทะเบียนรายเล็ก ๆ และเริ่มเห็นแนวโน้มที่หลายบริษัทในกลุ่มที่ครบดีล ไม่ได้บอกนักลงทุนว่าจะไม่มีเงินจ่าย แต่ใช้วิธีการไปขอประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อยืดอายุการจ่ายออกไป กล่าวคือไม่จ่ายเงินต้น แต่ขอจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้านักลงทุนเจอแบบนี้ก็ต้องคิดดี ๆ ว่าเกิดจากเจตนาอะไร หรือทำกันเป็นประเพณี ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วการออกหุ้นกู้ คือ การกู้ที่มีระยะเวลากำหนดจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย” นางสาวอริยากล่าว
ที่มา
https://www.bangkokbiznews.com/
https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/posts/3189537727746677