
ปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่เลวร้ายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดมรณะที่ฉุดให้ทุกธุรกิจบอบช้ำเป็นอย่างมาก ล่าสุด นีลเส็น เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาประจำปี 2563 พบว่า ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 106,255 ล้านบาท ขณะที่จากปี 2562 อยู่ที่ 123,663 ล้านบาท
ซึ่งสื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 59% ขณะที่ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในเดือนธันวาคม 2563 เพียงเดือนเดียว ลดลง -5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ หดตัวมากที่สุดถึง 51% เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์ ตามด้วย สื่อในห้าง -35% สื่อสิ่งพิมพ์ -32% สื่อวิทยุ -24% สื่อกลางแจ้งและสื่อเคลื่อนที่ -18% สื่อโทรทัศน์ -10% ส่วนสื่ออินเทอร์เน็ตทรงตัว


ปี 2563 ภาพรวมอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 15,310 ล้านบาท โดยใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น +6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มูลค่า 16,843 ล้านบาท ลดลง -8%, กลุ่ม Media & Marketing มูลค่า 12,438 ล้านบาท ลดลง -7% และกลุ่มยานยนต์ (Automotive) มูลค่า 6,467 ล้านบาท ลดลง -33%
ในส่วนของบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในปี 2020 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่
บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัดมูลค่า 5,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 46%
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มูลค่า 2,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42%
บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) มูลค่า 2,416 ล้านบาท ลดลง 4%

อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปี 2564
ขณะที่ทิศทางอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปี 2564 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาดรอบใหม่เป็นสำคัญ ที่เริ่มตั้งแต่สิ้นปี 2563 ซึ่งอุตสาหกรรมโฆษณาก็ยังส่อเค้าอาการไม่ดีเท่าไร แต่น่าจะดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ติดลบไปค่อนข้างเยอะ

“ปัทมวรรณ สถาพร” กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ได้กล่าวว่า
การเติบโตที่ฟื้นตัวได้เล็กน้อยดังกล่าว เป็นการคาดการณ์บนสมมติฐานแบบ “กรณีที่ดีที่สุด” (Best Case) เนื่องจากพบการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ในไทยตั้งแต่ปลายปีก่อน สถานการณ์ที่ดีที่คาดหวังคือ รัฐสามารถควบคุมการระบาดได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นปกติภายในเดือนมีนาคมประมาณ 3%
แต่ถ้าหากเกิด “กรณีที่แย่ที่สุด” (Worst Case) คือการระบาดลากยาวเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ จะทำให้เศรษฐกิจฝืดตลอดช่วงไตรมาส 1/64 และมีผลต่อเนื่องถึงไตรมาส 2/64 ด้วย โดยปัทมวรรณคาดว่า ถ้าเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นจะทำให้ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา “ติดลบ” ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
ที่มา positioningmag