นายกฯ ญี่ปุ่นเดินทางเยือนเวียดนามเป็นแห่งแรกหลังรับตำแหน่ง สะท้อนความสำคัญของเวียดนามตาม “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” และเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของธุรกิจญี่ปุ่น
นายโยฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเลือกเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายแรกในการเดินทางเยืนต่างประเทศหลังรับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำญี่ปุ่นเลือกเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรก ในเดือนธันวาคม 2555 นายชินโซ อาเบะ ที่เพิ่งรับตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่น ก็เลือกเยือนเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายแรกเช่นกัน แต่ครั้งนี้นายกฯ ซูงะไม่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย
นายซูงะได้กล่าวในเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวก่อนออกเดินทางว่า เวียดนามและอินโดนีเซียเป็น 2 ประเทศที่ขาดไม่ได้ในการดำเนิน “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” ซึ่งนายอาเบะและสหรัฐได้ร่วมกันผลักดัน เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาค
ในด้านความมั่นคง ญี่ปุ่นสนับสนุนเวียดนามที่มีข้อพิพาทพื้นที่ในทะเลจีนใต้กับจีน โดยมอบเรือลาดตระเวนขนาด 40 เมตรจำนวน 10 ลำให้เวียดนาม และยังประกาศว่าพร้อมจะมอบเรือลาดตระเวนให้กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น ๆ รวม 8 ชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีข้อพิพาทกับจีน
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้มอบเงินช่วยเหลือให้เวียดนาม 500 ล้านเยน รวมทั้งเรือเก่าอีก 6 ลำที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจการณ์ในทะเล ซึ่งแน่นอนว่าเวียดนามจะนำไปใช้เพื่อรับมือจีน
ในการประชุมสุดยอดระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน ที่กรุงโตเกียว เมื่อปี 2556 นายกฯ อาเบะประกาศว่าจะกระชับเสริมความสัมพันธ์กับอาเซียนทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ในครั้งนั้น ญี่ปุ่นยังได้มอบความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ให้เวียดนาม นำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 96,000 ล้านเยน รวมทั้งมอบเรือลาดตระเวนเพิ่มเติม และจะช่วยเวียดนามยกระดับความสามารถในการป้องกันทางทะเลด้วย
เวียดนาม ฐานการผลิตใหม่ของญี่ปุ่น
ในด้านเศรษฐกิจ หลังจีน-สหรัฐเผชิญหน้ากันในสงครามการค้า และการระบาดของไวรัสโควิด รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะโยกย้ายสายการผลิตที่อยู่ในจีนกลับญี่ปุ่น หรือไปยังประเทศอื่น โดยตั้งงบประมาณมากถึง 2,200 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจญี่ปุ่นย้ายฐานออกจากจีน โดยในจำนวนนี้ 2,000 ล้านดอลลาร์ใช้เพื่อสนับสนุนให้ย้ายสายการผลิตกลับญี่ปุ่น และ 200 ล้านดอลลาร์ใช้สนับสนุนให้ย้ายสายการผลิตไปยังประเทศอาเซียน
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร เผยผลการสำรวจเมื่อปี 2562 ว่า ธุรกิจญี่ปุ่นเลือกจะลงทุนในเวียดนาม เพิ่มขึ้นมากที่สุดเกินกว่า 40% ขณะที่ความสนใจในการลงทุนในจีนลดลงเหลือแค่ 48.1% ลดลงจากเดิมที่จีนคือฐานการผลิตที่ธุรกิจญี่ปุ่นเลือกมากที่สุดถึง 55.4%
นักศึกษาชาวเวียดนามยังเดินทางมาเรียนต่อญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะนี้มีมากเป็นอันดับ 2 รองจากนักศึกษาจีน ทุกหนแห่งในญี่ปุ่นขณะนี้เต็มไปด้วยชาวเวียดนาม ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นแหล่งแรงงานของญี่ปุ่นตามโครงการฝึกงานทางเทคนิค ชาวเวียดนามมาทำงานที่ญี่ปุ่นตามโครงการนี้มากเป็นอันดับที่ 1 และญี่ปุ่นยังต้องการแรงงานชาวเวียดนามเพิ่มเติมอีกมาก จำนวนประชากรเวียดนามที่มีมากกว่า 96 ล้านคนเป็นต้องแหล่งแรงงานและตลาดสินค้าที่สำคัญของญี่ปุ่น
ขณะนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 3 ของญี่ปุ่น รองจากจีนและสหรัฐ ในปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเจรจาเพื่อปรับปรุงข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-อาเซียน หรือ EPA ปี 2551 ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกของญี่ปุ่น การปรับปรุงข้อตกลงครั้งนี้มุ่งเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกับเวียดนามและอินโดนีเซีย เพื่อให้ทดแทนจีน ในการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาค.
ผลสำรวจชี้บ.ญี่ปุ่นสนใจลงทุนในเวียดนามมากที่สุด
ผลการสำรวจของบริษัทเอ็นเอ็นเอ เจแปน ซึ่งอยู่ในเครือสำนักข่าวเกียวโต ระบุว่า เวียดนามถือเป็นประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นสนใจเข้าลงทุนมากที่สุดในปี 2020
อันดับที่ 1 (42.1%) เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด โดยระบุถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ศักยภาพจากการขยายตัวของตลาด ศักยภาพทางศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโต และการมีแรงงานทักษะจำนวนมากที่มีค่าแรงต่ำ รวมทั้งการมีภาวะแวดล้อมใกล้เคียงกับจีน
อันดับ 2 (12.2%) อินเดียได้รับความนิยมตามมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดที่มีการขยายตัว และการมีศักยภาพเป็นประตูไปสู่ตะวันออกกลางและแอฟริกา
อันดับ 3 (11.6%) เมียนมา
อันดับ 4 (6.6%) อินโดนีเซีย
อันดับ 5 (5.1%) จีน โดยได้รับความนิยมน้อยลง จากความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ และต้นทุนด้านค่าแรงที่พุ่งขึ้น
ทั้งนี้ เอ็นเอ็นเอ เจแปนทำการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นจำนวน 820 แห่งในระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.2019
เวียดนามแหล่งลงทุนสำคัญของญี่ปุ่น
ข้อความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม the Vietnam-EU Free Trade Agreement (EVFTA) and ข้อความตกลงการลงทุนเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม the Vietnam-EU Investment Protection Agreement (EVIPA) เวียดนามตกลงกับกลุ่มสหภาพยุโรปกันไปตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2019 แต่ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการและการลงทุนมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020
ประเด็นนี้ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศได้เปรียบด้านเสรีการค้า ทั้งการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันตามความผูกพันภายใต้ความตกลง สัดส่วนสินค้าที่ได้การยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดจะครอบคลุม 99% ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างสองฝ่าย ความตกลง EVFTA ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงฮานอย เวียดนาม ระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ภาพรวมการลงทุนของเวียดนามยังเป็นที่น่าจับตามอง โดยมีจำนวนโครงการที่ขอรัฐส่งเสริมการลงทุนใหม่ 984 โครงการ มูลค่า 6,780 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.9% และยังมีโครงการที่ปรับเพิ่มทุน 335 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 45.6% ยิ่งเป็นตัวที่ช่วยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น จากการสำรวจของ JETRO ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 กิจการของญี่ปุ่นที่ลงทุนในเวียดนามจะมีการขยายการลงทุนเพิ่มกว่า 63.9% ซึ่งญี่ปุ่นนิยมลงทุนในเมืองฮานอยและเมืองโฮจีมิน เป็นหลัก ตัวเลขที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยออกมามีกลุ่มบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 87 บริษัท ที่ประสงค์จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่ง 30 บริษัทระบุว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เช่น เวียดนาม และลาว ได้แก่ บริษัท Hoya, Sumitomo Rubber Industries และ Shin-Etsu Chemical ส่วนอีก 57 บริษัทอาจจะย้ายกลับประเทศญี่ปุ่น
โดยข้อมูลการลงทุนในเวียดนาม จากปี 2018 ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการลงทุนในเวียดนามกว่า 8.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24.2 % ของการลงทุนทั้งหมด 112 และสิ้นปี 2019 ญี่ปุ่นที่ลงทุนในเวียดนาม ซึ่งลงทุนเพิ่มอีกเป็น 59.3 พันล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 16.7% เป็นที่ 2 ของการลงทุนทั้งหมดรองจากเกาหลีใต้ โดยมีการยื่นโครงการลงทุน 4,385 โครงการ ทั้งนี้บริษัทที่ยื่นการลงทุนในเวียดนามนั้นมีทั้งโตโยต้า ฮอนด้า พานาโซนิค แคนอน ฟูจิซีร็อกซ์ และ ซูมิโตโม นอกจากนี้หลายบริษัทจากญี่ปุ่นยังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในเวียดนามเพิ่มเติม ทั้งอีออน ยูนิโคล รวมถึงมิซูโฮะที่เข้าร่วมทุนกับธนาคารเวียดคอม และซูมิโตโม มิตซุยที่ร่วมทุนกับ ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ของเวียดนาม
เอเชียไทม์ วิเคราะห์ว่า การขยายการลงทุนในเวียดนามของญี่ปุ่นจะเป็นผลดีต่อญี่ปุ่นในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันจีนมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะการลงทุนทางเศรษฐกิจ และการที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามออกห่างจากการลงทุนจากจีน เป็นช่องทางให้ญี่ปุ่นขยายการลงทุน โดยเฉพาะการลงมทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ง่ายมากขึ้น
ปัจจุบันเวียดนามร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในโครงการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานพลังงานในประเทศ รองลงมาจากสิงคโปร์และไทย และในอนาคตคาดว่าทั้งเวียดนามและญี่ปุ่นจะขยายการลงทุนที่มากขึ้นตามลำดับ
ขณะที่การลงทุนในประเทศไทยของญี่ปุ่นในปี 2019 ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระบุว่าเมื่อสิ้นปี 2562 มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยอยู่ที่ 2,386 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2561 ถึง 55% โดยปี 2561 มีมูลค่าการลงทุน 5,278 ล้านดอลลาร์หสรัฐฯ
ดูเหมือนว่าทั้งความตกลง EVFTA และ CPTPP ที่เวียดนามมีอยู่ในมือ จะเป็นเครื่องมือในการปิดจุดอ่อนและนำไปสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ไทยยังคงถกเถียงและหาข้อสรุปในเรื่องข้อตกลงทางการค้าหรือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP ไม่ได้ เมื่อเสียงของภาครัฐแบ่งออกเป็นสองส่วน ขณะที่นักลงทุนจากไทยที่ขยายการลงทุนไปยังเวียดนามมีจำนวนถึง 9 โครงการ มูลค่า 22.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีโครงการลงทุนสะสมในเวียดนาม 567 โครงการ มูลค่า 12,304 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นอันดับ 9 จากทั้งหมด 136 ประเทศ
อีกทั้งโครงสร้างประชากรเวียดนามไม่เหมือนชาวบ้าน คือประเทศอื่นมีกลุ่ม Babyboom หลัง WWII และกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่ Babyboom ของเวียดนามเกิดหลังจบสงครามเวียดนาม ทำให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานเยอะ ค่าแรงยังถูกเหมือนไทยเมื่อซัก 20-30ปีก่อน
ที่มา Asiatimes, Nikkei, VEN, VIR, mgronline