
ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐอย่างสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 เติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปี GDP ไทยไตรมาส 1/2019 โต 2.8% แย่กว่าที่คาด ปัจจัยสำคัญมาจากแรงกดดันทางการค้ากระทบถึงภาคการส่งออกของไทยที่มีผลกระทบจากสงครามการค้า จีน-สหรัฐ การลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวลง รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปีนี้ส่อแววทรุดยาว อสังหาริมทรัพย์ในไทยล้นกว่า 340,000 หน่วย
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปี 2562 เหลือ 3.0% จากเดิมมอง 3.5%
สาเหตุหลักเพราะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2019 ชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น มูลค่าส่งออกไทยติดลบ 2% ผลกระทบหลักมาจากเศรษฐกิจโลกเป็นขาลงแรงและเร็วกว่าเดิม
ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทยปี 2019 นี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตชะลอตัวลงปี 2019 คาดว่าจะมี 40.4 ล้านคนโต 5.5% (ปี 2018 โต 7.5%) สาเหตุหลักเพราะนักท่องเที่ยวจีน และยุโรปที่เป็นตลาดหลักของไทยเศรษฐกิจไม่ดี ดั้งนั้นประเทศต้องหันมาเน้นรายได้จากกระแสไทยเท่่ยวไทยเพื่อชดเชยรายได้
การลงทุนภาคเอกชนปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4% เป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย อาจจะมาในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อรัฐบาลมีความชัดเจน เพราะปัจจุบันบริษัทไทยอยู่ในสถานะพร้อมลงทุน ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ดี และต้นทุนการเงินอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนค่าเงินบาทของไทยในปี 2019 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ 31.6-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ทั้งปีนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วง 31.2-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าราว 2.7 % จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเกินบัญชีดุลสะพัด แต่ค่าเงินบาทจะผันผวนมากขึ้นจากความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 2019 โตต่ำกว่าประเมิน
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า เมื่อสภาพัฒน์ ประกาศว่าไตรมาส 1 ปี 2019 GDP เติบโต 2.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 8 พ.ค. 2019 ประมาณการไว้
ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกหดตัว เศรษฐกิจโลกชะลอ แม้อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 4.6% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญและต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งในเดือนมิ.ย.นี้ กนง.จะมีประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในมิ.ย. 2019 นี้

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปีนี้ส่อแววทรุดยาว
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยในงานวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพระนครศรีอยุธยา-สระบุรี ปี 62 ว่า ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะติดลบจากปีก่อน โดยประเมินว่าตลอดปีจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ประมาณ 335,000 แสนหน่วย ลดลง 7.7% จากปีก่อนที่มีการโอน 363,000 หน่วย
“การชะลอตัวของภาคอสังหาฯ มีสาเหตุจากมาตรการคุมสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 62 ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลง กำลังซื้อที่มีไม่มาก ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในการเป็นหนี้ผูกพันระยะยาว ส่วนมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ที่ภาครัฐออกมา 2 มาตรการก็ช่วยตลาดได้ระดับหนึ่ง เพราะแต่เดิมหากไม่มีมาตรการออกมาทั้งธุรกิจอาจติดลบถึง 15.6%”
ในขณะที่ผู้ประกอบการเดินหน้าเปิดโครงการใหม่รายวัน บริษัทประเมินค่าทรัพย์สินและวิจัยตลาดชื่อดัง ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ได้สรุปตัวเลขอสังหาฯที่เปิดตัวแล้วยังขายไม่หมด เหลือตกค้างเป็นสต็อกในตลาด ณ กลางปี 2561 ระบุว่า โครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีสต็อกอสังหาฯรอขายถึง 1.8 แสนยูนิต มูลค่ากว่า 7.6 แสนล้านบาท แต่หากนับรวมทั่วประเทศ จะมีมากถึง 3.4 แสนยูนิต มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

ปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2019
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ยังคงเป็นความเสี่ยงด้านสงครามการค้า และความไม่แน่นอนด้านการเมืองของไทย
โดยในปัจจุบัน จีนและสหรัฐฯ ได้เปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่และมีการโต้ตอบกันไปมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาวะสงครามการค้ายังคงมีความยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับความเสี่ยงภายในประเทศมีที่มาจากเสถียรภาพด้านการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีโอกาสสูงที่เสียงระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวนใกล้เคียงกัน ประกอบกับการที่เป็นรัฐบาลผสม จึงน่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวอาจ มีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและภาคประชาชนที่อาจส่งผลต่อเนื่องถึงการชะลอการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนได้ในระยะต่อไป.