
“เอเวอร์แกรนด์” ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์จีนส่อผิดนัดชำระหนี้ จุดชนวนวิกฤตซับไพรม์แห่งเอเชีย ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน กำลังมีหนี้ล้นพ้นตัว ขณะที่นักลงทุนและลูกค้า 1.5 ล้านคน ได้วางเงินมัดจำซื้อบ้านที่ยังไม่ได้สร้างไปแล้ว การล้มละลายของยักษ์อสังหาฯรายนี้จึงอาจกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจของจีน
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ประชาชนจีนกว่าร้อยคน ได้บุกเข้าไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทเหิงต้า หรือ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการพัฒนาต่าง ๆ ผู้ประท้วงที่โกรธจัด รวมตัวกันบริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่ของบริษัท เพื่อทวงถามความชัดเจนในอนาคต หลังมีข่าวแพร่สะพัดว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน มีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์) ถือเป็นธุรกิจเอกชนที่มีหนี้มากที่สุดในโลก

วันที่ 16 กันยายน 2564 ดอยเช่อ เวลเล่อ สื่อเยอรมนี รายงานว่า ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” ยอมรับเมื่อวันอังคารว่ากำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล และอาจไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่จำนวนมหาศาลได้ ด้าน“ฟิทช์”เตือนปัญหานี้อาจกระทบเศรษฐกิจจีนวงกว้าง
นักลงทุนเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า หากเอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย ปัญหาอาจลุกลามไปยังบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ไชน่า เอเวอร์แกรนด์

ก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวมีชื่อว่า “เหิงต้า” และได้เปลี่ยนเป็น “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” Evergrande กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มียอดขายมากที่สุดเป็นอันดับสองของจีน บริษัทแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองทางตอนใต้ของเสิ่นเจิ้น ใกล้กับฮ่องกง โดยขายอพาร์ทเมนต์ให้กับลูกค้ากลุ่มรายได้สูงและปานกลาง ดำเนินธุรกิจในเมืองมากกว่า 280 เมือง บริษัทมีพนักงานมากกว่า 123,000 คน และมีรายได้รวม 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020
เอเวอร์แกรนด์ ร่ำรวยขึ้นอย่างมากจากความเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นผลจากการเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของจีน บริษัทแห่งนี้พัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐาน เกือบ 900 โครงการ
เอเวอร์แกรนด์ ยังได้ขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง อาหาร การพักผ่อน สันทนาการ และ ลงทุนในภาคการท่องเที่ยว ดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และกิจการประกันภัย นอกจากนี้ยังเปิดสโมสรฟุตบอล “กว่างโจว เอฟซี ฟุตบอล” หรือชื่อเดิมคือ “กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์” รวมทั้งลงทุนกิจการรถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande Auto) ในปี 2019 (ทั้งที่ไม่ได้เคยทำการตลาดยานพาหนะใดๆ เลย)

บริษัทเริ่มต้นกิจการเมื่อปี 1996 โดย “สีว์จยาอิ้น” ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาเขาได้กลายเป็นมหาเศรษฐีผ่านการเปิดเศรษฐกิจของจีน เมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับการจัดอันดับจากฟอร์บส์ ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ในจีน ทว่าความมั่งคั่งของเขาก็ลดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของบริษัท มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ ในกว่า 280 เมือง เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศจีนและติดอันดับหนึ่งใน 150 บริษัท ชั้นนำของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ จากข้อมูลของ Fortune 500
สีว์จยาอิ้น วัย 62 ปี มหาเศรษฐีที่สร้างฐานะตัวเอง เติบโตจากความยากจนในชนบท มาเป็นเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ กำลังต่อสู้เพื่อกอบกู้กลุ่มบริษัทของเขาจากหนี้มหาศาล และอาจเป็นต้นเหตุแห่งการล่มสลายที่ใกล้เข้ามาแล้ว ของชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก การประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน เอเวอร์แกรนด์เรียลเอสเตทกรุ๊ป (Evergrande Real Estate Group) เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ก็ยิ่งย้ำให้เห็นภาพของต้นหนที่สละเรือซึ่งกำลังใกล้จะจม
ทำไม “เอเวอร์แกรนด์” จึงประสบปัญหา ?

ปัญหาในระยะสั้นของเอเวอร์แกรนด์ คือ หนี้สิน ซึ่งกลุ่มบริษัทกล่าวว่าในสัปดาห์นี้ หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์) และเตือนถึง “ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากบริษัทผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้”
ยักษ์ใหญ่รายนี้เริ่มเดินสะดุด หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อติดตามและควบคุมหนี้สินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนก็ได้เริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัวแถมยังถูกซ้ำโดยวิกฤติโควิด-19 บริษัทจึงเกิดปัญหาสภาพคล่อง หมุนเงินมาจ่ายหนี้ไม่ทัน
เอเวอร์แกรนด์ พึ่งพาเงินจากการขายล่วงหน้า แล้วนำมาหมุนธุรกิจต่าง ๆ แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาล จึงทำให้บริษัทต้องเทขายโครงการ พร้อมส่วนลดที่สูงลิ่ว
นักลงทุนและลูกค้าชำระเงินดาวน์เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ประมาณ 1.5 ล้านแห่ง ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก ซึ่งรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากเดือนธันวาคม ผู้ซื้อหลายรายได้แสดงความกังวลทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ หลังจากโครงการอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ถูกระงับ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอเวอร์แกรนด์ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง และหุ้นที่จดทะเบียนในฮ่องกงของบริษัทดิ่งลงมากกว่า 80% ในปีนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นประกาศระงับการซื้อขายพันธบัตรเอเวอร์แกรนด์ชั่วคราว หลังจากราคาลดลงมากกว่า 30%
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งถึงตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ระบุว่าบริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ทั้งหมด หวังบรรเทาวิกฤตเงินสดตึงตัว
แถลงการณ์ฉบับนี้เตือนด้วยว่า บริษัทไม่รับประกันว่าจะสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินได้หรือไม่
บริษัทยังตำหนิสื่อที่รายงานข่าวในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง อ้างว่าการรายงานของสื่อได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายในช่วงเดือนกันยายน โดยระบุว่า “ส่งผลให้การสะสมเงินสดของบริษัทตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อกระแสเงินสดและสภาพคล่องของบริษัท”
ทั้งยังระบุว่า แม้จะมอบส่วนลดอสังหาริมทรัพย์สูงสุดถึง 1 ใน 4 และได้ขายหุ้นในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไปแล้ว บริษัทยังกำไรลดลง 29% ในช่วงครึ่งปีแรก
วิกฤตการเงินของเอเวอร์แกรนด์ จะก่อให้เกิดวิกฤตในเอเชียหรือไม่?

ปักกิ่ง ได้ตั้งฉายาเรียกกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินและความเสี่ยงทางการเงินมหาศาล แต่ผู้รับผิดชอบมองไม่เห็นสัญญาณ หรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ ว่าเป็น “แรดสีเทา” และ “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” เคยถูกพูดถึงหลายครั้งว่าเป็น “แรดสีเทาตัวยักษ์ของจีน”
ผู้เชี่ยวชาญ เคยเตือนกังวลเรื่องหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกรายนี้เสมอ และถกเถียงคาดการณ์กันว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือไม่หากบริษัทนี้ล่มสลาย นักวิเคราะห์เอเชีย บางคนชวนคิดถึงสถานการณ์เช่นเดียวกับความล้มคว่ำ เรื่องอื้อฉาวของฮันโบ (Hanbo Steel) ในเกาหลีใต้ เดือนมกราคม 1997 ชนวนหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย
วิกฤตหนี้สินทั่วโลกของ เอเวอร์แกรนด์ ที่มีมากกว่า 3.56 แสนล้านดอลลาร์ แม้จะเป็นผู้ออกพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด แต่ก็กลายเป็นพันธบัตรขยะที่นักลงทุนเพียงไม่กี่รายต้องการถือในตอนนี้
ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการเติบโตของจีน คิดเป็น 29% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นการล้มละลายของบริษัทใหญ่ระดับนี้จึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
“การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะเป็นบททดสอบที่ใหญ่สุดที่ระบบการเงินจีนต้องเผชิญในรอบหลายปี” มาร์ก วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม “ตลาดดูเหมือนจะไม่กังวลเรื่องผลกระทบทางการเงินในขณะนี้” เขากล่าวและว่า “ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง”
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่รัฐบาลจีนจะปล่อยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับใหญ่ขนาดนี้ล่มจม
“รัฐบาลจีนจะไม่ยอมปล่อยให้เอเวอร์แกรนด์ล้มละลายหรอก เพราะมันถือเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล” นักวิเคราะห์จากไซโนอินไซเดอร์ในสหรัฐฯ กล่าว
บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันอังคารว่า มณฑลกวางตุ้งของจีนได้ว่าจ้างทีมนักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเอเวอร์แกรนด์ แม้ว่าหน่วยงานระดับท้องถิ่นแห่งนี้จะปฏิเสธให้ความช่วยเหลือไปแล้วก็ตาม
ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ระบุว่า บริษัทจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากหาก เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้จริง แม้ว่าผลกระทบโดยรวมที่มีกับภาคการธนาคารจีนจะสามารถจัดการได้“เราเชื่อว่าการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะยิ่งทำให้สินเชื่อในกลุ่มผู้สร้างบ้านมีช่องว่างมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดปัญหากับธนาคารขนาดเล็กบางแห่ง” ฟิทช์ ระบุทั้งนี้ ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ เป็น “CC” จาก “CCC+” ซึ่งนับเป็นระดับที่มีแนวโน้มใกล้จะล้มละลายและมีโอกาสไม่มากที่จะฟื้นตัว เมื่อวันที่ 7 ก.ย. บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการผิดนัดชำระหนี้บางอย่าง
ส่วน S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจาก B- เป็น CCC (สองระดับ) ในวันที่ 5 สิงหาคม ขณะเดียวกันก็ลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของธนบัตรดอลลาร์สหรัฐที่ออกโดยเอเวอร์แกรนด์ จาก CCC+ เป็น CC-
S&P กล่าวว่า “สถานะสภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์ลดลงอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้ “ความเสี่ยงจากการไม่ชำระเงินของบริษัทกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงแต่สำหรับพันธบัตรสาธารณะที่จะถึงครบกำหนดในปี 2565 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินเชื่อธนาคารและทรัสต์ และหนี้สินอื่นๆ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วย”
ราคาหุ้นร่วงอย่างหนัก
วันนี้ 20 กันยายน 2564 ราคาหุ้นบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ร่วงลงอย่างหนักทั้งวันนี้ที่ตลาดหุ้นฮั่งเส็ง ฮ่องกง โดยมีระดับทรุดลงต่ำสุดที่ 2.06 ดอลลาร์ฮ่องกง ทำสถิติราคาหุ้นเอเวอร์แกรนด์ต่ำที่สุดนับจากเดือนพฤษภาคม 2553 หรือในรอบ 11 ปี อีกทั้่งยังดึงดัชนีหุ้นฮั่งเส็ง ตลาดหุ่นฮ่องกงปิดตลาดในวันนี้ 20 กันยายน 2564 ที่ระดับ 24,099 จุด ทรุดต่ำลง -821 จุด หรือ -3.30%

ที่มา mgronline.com