สถานะการณ์แรงงานไทยปี 2563 ถือว่าหนักเอาการ นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลก และไทยที่ซบเซาแล้ว ยังมีภาวะสงครามต้นปี รวมถึงไวรัส Covid-2019 กระหน่ำ เศรษฐกิจไทยที่แย่อยู่แล้วให้ทรุดลงไปอีก คาดไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 GDP อาจติดลบ
ข้อมูลแรงงานปลายปี 2562
ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ที่เปิดเผยผลสำรวจสภาวการณ์มีงานทำของประชากรในเดือนธันวาคม 2562 (ยังไม่ใช่ปี 2563) พบว่า ในจำนวนกำลังแรงงานที่พร้อมจะทำงาน 38.21 ล้านคน นั้น มีผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.8 แสนคน
ตัวเลขคนว่างงานล่าสุดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 พบว่า ผู้มีงานทำลดลง 2.1 แสนคน คือ ลดลงจาก 37.87 ล้านคน เป็น 37.66 ล้านคน โดยผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม มีจำนวนลดลง 4.7 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาการผลิตมากถึง 4 แสนคน
สำหรับการว่างงานในเดือนธันวาคม 2562 ทั้งสิ้น 3.67 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นคน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 6.2 หมื่นคน
ส่วนสาเหตุการว่างงานในเดือนธันวาคม 2562 พบว่า มีเหตุจากนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ มีจำนวน 24,500 คน เพิ่มขึ้น 965.22% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มี 2,300 คน แต่ลดลง 48.42% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มี 47,500 คน
สำหรับแรงงานที่ว่างงานเพราะหมดสัญญาจ้างงาน มีจำนวน 39,500 คน เพิ่มขึ้น 234.74% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ที่มี 11,800 คน และเพิ่มขึ้น 2.59% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มี 38,500 คน
เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของผู้ว่างงานพบว่า
- อันดับ 1 ยังคงเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือปริญญาตรี 1.48 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.8%
- รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 7.6 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2%
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.5 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.8%
- ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.1 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.3%
โดยสรุป ก็คือ ตกงานกันเพิ่มขึ้น และคนจบปริญญาตรี เตะฝุ่นกันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
คาดว่าตัวเลขในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์จะหนักกว่านี้ โดยเฉพาะจากไข้หวัดโคโลน่า
ข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรม
ตามข้อมูลสถิติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พบว่า ยอดขอปิดกิจการเดือนมกราคม 2563 มีจำนวน 222 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 53.10% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.29 พันล้านบาท ลดลง 8.4% คิดเป็นจำนวนแรงงานที่เลิกจ้าง 2.51 พันคน ลดลง 31.04% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.64 พันคน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด เดือนมกราคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.6 จากระดับ 42.4 ในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 72 เดือน จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในทุกมิติการครองชีพ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ
ในประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติม พบว่า 43.6% ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชี้ว่า องค์กรที่ตนเองสังกัดหรือเป็นเจ้าของมีการปรับตัวในด้านการจ้างงานท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการชะลอรับพนักงานใหม่ การลดเวลาทำงานล่วงเวลาของพนักงาน รวมถึงการเลิกจ้าง ที่ยังมีสัดส่วนสูงถึง 7.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ สอดคล้องไปกับจำนวนโรงงานที่ขอปิดกิจการในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 222 โรงงาน เพิ่มสูงขึ้นถึง 63.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่มา
https://mgronline.com/daily/detail/9630000014944