– สัญญาการค้าเสรี RCEP มีประเทศเข้าร่วม 15 ประเทศ โดยมีประเทศอาเซียน 10 ประเทศ + จีน + ญี่ปุ่น + เกาหลี + ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
– เป็นเขตการค้าเสรีที่มีประชาชนถึง 1 ใน 3 ของโลกเลยทีเดียว ประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน
– GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก
– มูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์หรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

15 พฤศจิกายน 2563 ผู้นำ 15 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ “อาร์เซ็ป” ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการเจรจา ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์หรัฐ ประมาณ 326 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก
RCEP คืออะไร
RCEP อาร์เซ็ป คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นสนธิสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่อาเซียนเสนอเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและการค้ากับพันธมิตรในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พร้อมด้วยคู่ค้าอาเซียนอีก 5 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้
ในขณะเดียวกัน สมาชิกRCEP ยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจา RCEP ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2555 ซึ่งอินเดียมีความสำคัญกับเขตการค้านี้เพราะมีประชากร 1300 ล้านคน GDP เป็นอันดับที่ 5 ของโลกที่ $2.94 ล้านล้านเหรียญ อินเดียได้ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากกังวลปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีน จะไหลทะลักเข้าประเทศ รวมทั้งการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนในภูมิภาค แต่ถึงจะไม่มีอินเดีย ความร่วมมือนี้ก็ยังมีความสำคัญมากอยู่ดี
ส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้าตลอดจนมีเรื่องใหม่ๆ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

RCEP สำคัญอย่างไร
หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่าการลงนามข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะของความร่วมมือพหุภาคีและการค้าเสรีด้วย
ข้อสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP จะ “ส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งที่สะท้อนความเป็นผู้นำของอาเซียนในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ช่วยก่อร่างโครงสร้างการค้าใหม่ในภูมิภาค เอื้อประโยชน์ทางการค้าอย่างยั่งยืน พัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก และสนับสนุนการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาด” เหงียนซวนฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าว
โมฮาเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่าการลงนามข้อตกลง RCEP จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงความพยายามในการเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี และยึดมั่นในวาระการพัฒนาขององค์การการค้าโลก (WTO)
ไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีกระทรวงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า RCEP เป็น “ข้อตกลงที่มีนัยสำคัญยิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการค้าทั่วโลก”
RCEP เทียบกับ CPTPP
RCEP : ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย เกาหลีใต้ จีน
CPTPP : ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม แคนนาดา ชีลี เปรู เม็กซิโก (สหรัฐอเมริกาถอนตัว)
CPTTP ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เรียกขานกันว่า TPP-11 หรือ CPTPP ที่มีสมาชิก 11 ประเทศร่วมก่อตั้ง มีผลประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 มา
ริเริ่มโดยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาให้เกิด TPP หรือ Trans-Pacific Partnership แต่ประธานธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัวออกจาก TPP ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น CPTPP ที่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับข้อตกลงนี้คือไม่มีจีนอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะแรกเริ่มเดิมทีที่อเมริกาเสนอตั้งเขตการค้าเสรีนี้ก็เพื่อสกัดอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการเข้าร่วม ทำให้ความน่าสนใจของ CPTPP น้อยลงอย่างมาก เพราะไม่มีประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริา จีน หรืออินเดียในกลุ่มนี้แม้แต่ประเทศที่ประชากรมากๆในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียยังไม่เข้าร่วมด้วย
ส่วน RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership นั้น จีนเป็นคนผลักดันเขตการค้าเสรีในภูมิภาคนี้ที่เรียกว่าซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ รวมถึงอาเซียนทั้ง 10 ชาติ บวกจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ว่ากันว่าการที่จีนหนุนเนื่อง RCEP นั้นก็เพื่อจะสกัดอิทธิพลของอเมริกาในเอเชียเช่นกัน เปรียบเทียบสองกลุ่มนี้แล้วก็จะเห็นว่า RCEP น่าจะใหญ่กว่าทั้งในแง่ของเศรษฐกิจรวมของสมาชิก และพลังอำนาจการต่อรองที่มีทั้งจีน และญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งภายหลังอินเดียถอนตัวออกไป
การมีจีนเข้ามาเป็นคู่ค้าจึงทำให้ขนาดของเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนของสินค้า บริการที่จะเกิดขึ้นภายในภูมิภาค หลังจากเปิดเสรีทางการค้าผ่านข้อตกลงเหล่านั้นแล้วมันย่อมน่าสนใจ และทำให้หลายๆประเทศยิ่งอยากเข้าร่วมมากขึ้น เมื่อจีนเป็นหัวเรือใหญ่ จะไม่มีเรื่องข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์อะไรที่ Comprehensive ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็ตามแบบ CPTPP ตรงนี้มันเลยยิ่งทำให้ข้อตกลง RCEP นี้ดูน่าเข้าร่วมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อนำมาเทียบกันในภาพรวมนี้
ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการลงนามความตกลง RCEP
ประเทศไทยจะสามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ
- หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น
- หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่นๆ
- หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์
- หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น
- การค้าปลีก
สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการที่จะเตรียมตัวและปรับตัว เพื่อให้เข้ากับข้อตกลงการค้าการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก RCEP คือ จะต้องเร่งศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะหลังจากลงนามวันนี้ แต่ละประเทศจะต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในกลางปีหน้า โดยในการมีผลบังคับใช้จะต้องมีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศอื่น 3 ประเทศ แจ้งให้สัตยาบัน ความตกลงก็สามารถบังคับใช้ได้เลย
แม้ว่าให้สัตยาบันแล้ว หลังให้สัตยาบันไม่ใช่ว่าทุกอย่างมันจะพร้อมทีเดียว 100% มีข้อยกเว้นยิบย่อยให้ประเทศภาคีที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างพวกลาว กัมพูชา ในการปรับตัวรวมถึงระบบการปฏิรูประบบศุลกากร กว่าเราจะได้ดอกผลจาก RCEP นี้จริงๆก็คงต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี (หรืออาจจะ 20 ปีเลยก็ได้)
ข้อตกลง RCEP ฉบับเต็มอ่านได้ที่ rcepsec.org