New silk road 1

Belt and Road Initiative เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21

New silk road

Belt and Road Initiative (BRI) เดิมเรียก หนึ่งเข็มขัด หนึ่งเส้นทาง (อังกฤษ: One Belt One Road; จีน: 一带一路) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่จีนโดย ปธน.สีจิ้นผิง ประกาศเมื่อปี 2013 มันเป็นตัวเชื่อมระหว่างจีนกับยุโรปผ่านทางเอเซียกลางและเอเซียตะวันตก และยังมีเส้นทางทะเล (the 21st Century Maritime Silk Road) ซึ่งเชื่อมจีนกับกลุ่มประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อัฟริกาและยุโรป ​นี่เป็นการรวมเอา 64 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประชากรโลก 4,500 ล้านคน หรือ 62% มีจีดีพีรวมกัน 23 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก

“เข็มขัด” หมายถึง เส้นทางทางบกสำหรับการขนส่งทางถนนและราง เรียก “เข็มขัดเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ส่วน “ถนน” หมายความถึง เส้นทางทะเล หรือเส้นทางสายไหมทางทะเลคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีการบรรจุในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2017

แผนการริเริ่มเส้นทางสายไหม (Silk Road initiatives) ของจีน หรือ One Belt, One Road มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ

1. ส่วนที่เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับการพัฒนาเครือข่ายโยงใยของท่าเรือ เส้นทางสายไหมทางทะเล มีจุดเริ่มต้นจาก มณฑลฟูเจี้ยน ผ่าน มณฑลกวางตุ้ง กวางสี เกาะไหหลำ ลงใต้ไปผ่าน ช่องแคบมะละกา ย้อนกลับไปผ่าน กรุงกัวลาลัมเปอร์ โกตาบาลู ไปยัง กรุงโคลอมโบ ศรีลังกา ผ่าน มหาสมุทรอินเดีย ไปยัง กรุงไนโรบี ในแอฟริกา แล้วข้าม ทะเลแดง ไปสู่ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปสิ้นสุดที่ นครเวนิส ประเทศอิตาลี

2. ส่วนที่เป็นเข็มขัดเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ที่เจาะเข้าด้านลึก-ด้านในของผืนแผ่นดิน  ยุทธศาสตร์ในส่วนนี้เกี่ยวข้องอยู่กับการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงจีนไปยังเอเชียกลาง มุ่งสู่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี  ตลอดจนทอดตัวขึ้นสู่ยุโรปเหนือไปยังกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย  แล้วตัดข้ามภูมิภาคยุโรปตะวันตก ไปสิ้นสุดที่ฮอลแลนด์

BRI จะเป็นการหล่อหลอมการเชื่อมโยงของโลกและการค้าเข้าด้วยกัน แต่ก็ยังคงต้องการการหนุนด้านนวัตกรรมจากนานาชาติ โดยเฉพาะด้านการเงิน ยังคงต้องมีการใช้เงินในเอเซียถึง $1.7 ล้านล้านต่อปี นถึงปี 2030 รวมกันถึง £26 ล้านล้าน โดยที่ไม่อาจทำได้สำเร็จโดยรัฐบาลหรือองค์กรการเงินทั้งหลาย จำเป็นต้องมีการร่วมมือของการลงทุนจากเอกชน อังกฤษเป็นผู้ที่สนับสนุน BRI มาตั้งแต่เริ่มประกาศ และร่วมกับ Asia Infrastructure Investment Bank (AIIB) ในฐานะสมาชิกก่อตั้งอยู่ด้วย

โดย ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ยังได้ริเริ่มก่อตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย โดยมีจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีทุนจดทะเบียน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์ One Belt One Road เพื่อคานอำนาจกับ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เส้นทางสายไหม

เส้นทางสายไหมในอดีต

ความยาว:6,000 กิโลเมตร (4,000 ไมล์)
ช่วงเวลา:ราชวงศ์ฮั่น–คริสต์ทศวรรษ 1450

เส้นทางสายไหมทางการค้าของจีนเมื่อกว่า 2000 ปีก่อนมีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก เนื่องจากเป็น สะพานเชื่อมจีนกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอาฟริกาและเอเชียได้สร้างคุณูปการอัน สำคัญเพื่อการไปมาหาสู่กันทางวัตถุและการแลกเปลี่ยนกันทางอารยธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
เส้นทางสายไหม (Silk Road หรือ Silk Route) เป็นชุดเส้นทางการส่งการค้าและวัฒนธรรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของอันตรกิริยาทางวัฒนธรรมผ่านภูมิภาคของทวีปเอเชียที่เชื่อมตะวันตกและตะวันออกโดยการโยงพ่อค้าวาณิช ผู้แสวงบุญ นักบวช ทหาร ชนเร่ร่อนและผู้อาศัยในเมืองจากจีนและอินเดียไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างเวลาหลายสมัย เส้นทางสายไหมมีความยาว 6,437 กิโลเมตร (4,000 ไมล์) ได้ชื่อมาจากการค้าผ้าไหมจีนที่มีกำไรมากตลอดเส้นทาง เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น
การค้าบนเส้นทางสายไหมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาของอารยธรรมจีน อนุทวีปอินเดีย เปอร์เซีย ทวีปยุโรปและคาบสมุทรอาหรับ โดยเปิดอันตรกิริยาทางการเมืองและเศรษฐกิจทางไกลระหว่างอารยธรรม แม้ผ้าไหมเป็นสินค้าหลักจากจีน แต่ก็มีการค้าสินค้าอื่นจำนวนมาก ศาสนา ปรัชญาหลายความเชื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ จนถึงโรคก็ไปมาตามเส้นทางสายไหมเช่นกัน นอกเหนือจากการค้าทางเศรษฐกิจแล้ว เส้นทางสายไหมยังใช้เป็นการค้าทางวัฒนธรรมในบรรดาอารยธรรมตามเครือข่ายเส้นทางด้วย
หลังจากศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา พร้อม ๆ กับที่สถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในทวีปเอเซียและทวีปยุโรปได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยี่การเดินเรือทางมหาสมุทรได้รับการพัฒนาก้าวหน้า การขนส่งทางทะเลได้ขยายบทบาทเด่นขึ้นทุกวัน ในด้านการค้า เส้นทางสายไหมทางบกสายนี้จึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง ถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ของจีนเมื่อศตวรรษที่ 10 เส้นทางสายไหมใช้เป็นเส้นทางการ ขนส่งทางการค้าน้อยมาก

ความคืบหน้าของเส้นทางสายไหม BRI

โครงการ BRI ที่เสร็จสิ้นการก่อสร้างไปแล้วมีอยู่ 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

1) เส้นทางรถไฟอี้อู-ลอนดอน (Yiwu-London railway) เส้นทางขนส่งสินค้าจากจีน ผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และสิ้นสุดที่สหราชอาณาจักร ระยะทางรวม 12,000 กิโลเมตร โดยขบวนรถไฟส่งสินค้าขบวนแรกจากเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนได้เดินทางถึงกรุงลอนดอนในเดือนมกราคม ปี 2017 ใช้เวลา 18 วัน ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งสินค้าทางเรือซึ่งปกติใช้เวลาราว 30-45 วัน และมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศ

2) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor) เป็นโครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในบรรดาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แห่ง โดยโครงการย่อยที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ท่าเรือคาซิม มอเตอร์เวย์ระหว่างเมืองเปศวาร์และการาจีซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน และถนนเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ ซึ่งรัฐบาลปากีสถานตั้งใจผลักดันให้เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศภายในปี 2055

3) ท่าเรือน้ำลึกฮัมบานโตตา ประเทศศรีลังกา (Hambantota port) มีมูลค่าลงทุนรวม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มก่อสร้างในปี 2008 โดยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ แต่ภายหลังรัฐบาลศรีลังกาตัดสินใจยกให้บริษัทท่าเรือสัญชาติจีนเป็นผู้ดูแลภายใต้สัญญาเช่า 99 ปี เพื่อเป็นการลดภาระหนี้

นอกจากนี้ จีนยังมีอีกหลายโครงการภายใต้แผน BRI ทั้งที่เพิ่งเริ่มวางแผนและที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เช่น สะพานถนนและสะพานรถไฟจีน-รัสเซีย ท่าเรือเอกชนแห่งใหม่ที่อ่าวไฮฟา ประเทศอิสราเอลซึ่งบริษัทท่าเรือสัญชาติจีนได้สิทธิในการก่อสร้างและบริหารจัดการเป็นเวลา 25 ปี และโครงการทางรถไฟลาว-จีนซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 90% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2021 เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน หลายโครงการของ BRI ก็ยังคงล่าช้ากว่าแผน ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงในอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2016 แต่เกิดความล่าช้าจากปัญหาการเวนคืนที่ดินและงบประมาณบานปลายจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจเจ้าผิวของเมียนมา ซึ่งล่าช้าจากปัญหาการเมืองภายในและความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ โดยล่าสุดรัฐบาลเมียนมาได้ขอลดขนาดเงินลงทุนโครงการจากเดิม 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลงเป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2019 ทางการจีนก็ยังได้พันธมิตรเข้าร่วมโครงการ BRI เพิ่มขึ้นอีก 3 ประเทศ คือเปรู อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลีถือเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่เข้าร่วมกับ BRI โดยได้ลงนาม MOU ร่วมกับจีนเพื่อพัฒนาท่าเรือหลัก 4 แห่ง ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ตกลงร่วมมือกับจีนในด้านการค้า การลงทุน และการสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการภายใต้แผน BRI 

กับดักหนี้ BRI ของจีน

ศรีลังกา ต้องยอมให้จีนเช่าท่าเรือยุทธศาสตร์เป็นเวลา 99 ปี เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ค่าก่อสร้างท่าเรือมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ 44,800 ล้านบาท ประเทศที่สองที่กำลังจะตกอยู่ใน “กับดักหนี้ B&R จีน” ในอนาคต น่าจะเป็น สปป.ลาว เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงจีนลาว ที่จะมาเชื่อมกับไทยที่หนองคาย มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 6,700 ล้านดอลลาร์ 214,400 ล้านบาท มูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศลาวเลยทีเดียว

BRI กับประเทศไทย

ในเวที BRICS กับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นสักขีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านเศรษฐกิจใน เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ “โลจิสติกส์” ที่ไทย-จีนเห็นชอบให้ “ประเทศไทย” ใช้ประโยชน์ “ตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ตั้งประเทศ” พัฒนาเป็น “ศูนย์กลางโลจิสติกส์” เพื่อเชื่อมโยงทางบกและทางน้ำที่มีอยู่ อำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) และ ประเทศจีน และการบังคับใช้ ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
โดย GMS (Greater MeKong Subregion) ประกอบ ด้วย 6 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และ มณฑลทางใต้ของจีน ยูนนาน กวางสี มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดกว่า 2.6 ล้าน ตร.กม. มีประชากรรวมกันกว่า 326 ล้านคน โดยใช้เป็นทางรถไฟขนาด 1 เมตร เมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูงจีนขนาดราง 1.435 เมตร ทุกประเทศในจีเอ็มเอส ยกเว้นจีน ใช้รางรถไฟขนาด 1 เมตร เมื่อสร้างเสร็จ ไทยจะเป็นศูนย์กลาง ใน กลุ่มประเทศจีเอ็มเอส อย่างแท้จริง เชื่อมโยงทั้งการค้าและการท่องเที่ยวครบวงจร

ที่มา :
บทความ “China’s Massive Belt and Road Initiative”, จาก cfr.org
บทความ “Call for Conference: Belt and Road Summit 2020, 18 & 19 March, Dubai”, จาก oboreurope.com
บทความ “Belt and Road Initiative เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว” โดย SCB