Circuit Breaker คือการหยุดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ใช้สำหรับกรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง
การหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวกรณี Circuit Breaker (มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2563)
กรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง ราคาหลักทรัพย์โดยรวมเปลี่ยนแปลงลดลงมาก เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ :
- ครั้งที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 8% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที และ
- ครั้งที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 15% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที และ
- ครั้งที่ 3 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
และหลังจากการทำงานครั้งที่ 3 ของ Circuit Breaker แล้วตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการตามปกติโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก
หากระยะเวลาในรอบการซื้อขายที่ Circuit Breaker ทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ให้หยุดพัก การซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลือในรอบการซื้อขายนั้นแล้วเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติในรอบ การซื้อขายถัดไป
กฎเดิมของ Circuit Breaker
ครั้งที่ 1 เมื่อดัชนีเปลี่ยนแปลงลดลงถึง 10% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์ จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที
ครั้งที่ 2 เมื่อดัชนี เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% (ลดลงอีก 10%) ของค่าดัชนีปิดใน วันทำการก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
Ceiling-Floor ใหม่
ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้เตรียมปรับเกณฑ์ให้ระดับราคาเสนอซื้อและเสนอขายของหุ้นในแต่ละวันสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุด (Ceiling) หรือลดลงต่ำสุด (Floor) ได้ไม่เกิน 15% ของราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า จากเดิม 30% รวมไปถึงสินทรัพย์ต่างๆ ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่ความผันผวนในตลาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
Ceiling และ Floor คืออะไร
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันไว้ เพื่อไม่ให้ราคาของหุ้นมีความผันผวนมากจนเกินไป จนกระทั่งเกิดความเสี่ยงเกินกว่าจะรับได้สำหรับนักลงทุน
ราคา Ceiling ก็คือ ราคาสูงสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน กำหนดไว้ที่ + 15% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า เช่น หุ้น A เมื่อวานปิด 100 บาท วันนี้ราคาหุ้นปิดห้ามเกิน 115 บาท
ราคา Floor คือ ราคาต่ำสุดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน กำหนดไว้ที่ – 15% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า เช่น หุ้น B เมื่อวานปิด 100 บาท วันนี้ราคาหุ้นปิดห้ามเกิน 85 บาท
ที่มา
https://www.set.or.th/th/products/trading/equity/tradingsystem_p8.html