ความรับผิดชอบธุรกิจต่อสังคม (CSR) เทรนต์ที่ทุกองค์กรต้องใส่ใจ

6152
ความรับผิดชอบธุรกิจต่อสังคม (CSR)

CSR คืออะไร?

CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบของธุรกิจหรือองค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคือการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดีโดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร CSR เป็นแนวคิดขององค์การในการดำเนินกิจกรรม การวางแผน การตัดสินใจ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการ และการดำเนินการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอาจสอดแทรกเรื่องนี้ไว้ในกระบวนการประกอบธุรกิจ เช่น กระบวนการผลิต หรือการบริการ การดูแลบุคลากรในองค์การและครอบครัว รวมไปถึงการดูแลชุมชนและสังคมโดยรอบ เป็นการบูรณาการเอาเป้าหมายเพื่อสังคม เข้าไปในการดำเนินกิจการ ซึ่งต้องทำด้วยความสมัครใจ

CSR เป็นเครื่องมือที่โลกตะวันตกคิดขึ้นสำหรับใช้ควบคุมหรือถ่วงดุลลัทธิทุนนิยมสุดขั้ว มุ่งกำไรสูงสุด(ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการทำธุรกิจอยู่แล้ว) จนหย่อนด้านคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบทางสังคม เป็นกลไกควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจข้ามชาติ ให้ต้องประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่แสดงความรับผิดชอบทางสังคมในหลากหลายมิติ
หลักการของธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม จึงอยู่บนฐานความเชื่อว่า ธุรกิจ กับสังคม จะต้องอยู่ร่วมกัน อย่างช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ช่วยกันลดจุดอ่อนต่อกัน

Corporate หมายถึง กิจการที่ดำเนินไปเพื่อแสวงหาผลกำไร (หมายรวมถึงองค์กรประเภทอื่นได้ด้วย)

สังคมในนิยามของ CSR

Social สังคมในความหมายของความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะพิจารณาตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรโดย

สังคมภายในองค์กร
  • ในระดับของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกิจการ การไม่นำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือกรรมการซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม เป็นต้น
  • ในระดับของผู้บริหารหรือกรรมการบริษัท ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารจัดการและการกำหนดค่าตอบแทนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลรายงานทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา รวมถึงการอุทิศเวลาและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น
  • ในระดับของพนักงาน ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การจ่ายค่าจ้างและผลตอบแทนที่เป็นธรรมและตรงต่อเวลา การจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น
สังคมระดับใกล้กับองค์กร
  • ในระดับของลูกค้าและผู้บริโภค ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ ความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค การให้บริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา การให้ข้อมูลขององค์กรและตัวผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอและอย่างถูกต้องเที่ยงตรง การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค การยุติข้อโต้แย้งและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค เป็นต้น
  • ในระดับของคู่ค้า ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การยึดถือข้อปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม การดำเนินงานในทางต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการกรรโชก และการรับหรือให้สินบนในทุกรูปแบบ การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ของคู่ค้า การไม่เอารัดเอาเปรียบต่อคู่ค้า การส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินความรับผิดชอบด้านสังคมร่วมกับองค์กร เป็นต้น
  • ในระดับของชุมชนและสภาพแวดล้อม ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การสงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ การส่งเสริมแรงงานท้องถิ่นให้มีโอกาสในตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กร การสนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ และการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เป็นต้น
สังคมภายระดับไกล
  • ในระดับของประชาสังคม ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มหรือเครือข่ายอื่นๆ ในการพัฒนาสังคม การตรวจตราดูแลมิให้กิจการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน การรับฟังข้อมูลหรือทำประชาพิจารณ์ต่อการดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และการทำหน้าที่ในการเสียภาษีอากรให้รัฐอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น
  • ในระดับของคู่แข่งขันทางธุรกิจ ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การดูแลกิจการมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้วยวิธีการทุ่มตลาด การกลั่นแกล้งหรือใช้อิทธิพลในการกีดกันเพื่อมิให้เกิดการแข่งขัน เป็นต้น
  • ในระดับสังคมโลก ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อระดับประเทศหรือโลก ได้แก่ การรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลของเสียจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกมาจากการผลิตขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นอากาศหรือน้ำ แม้กระทั่งขยะ หรือถ้าการค้าควรใส่ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก

Responsibility หมายถึง การรับผิดชอบ การยอมรับทั้งผลที่ไม่ดีและผลที่ดีในกิจการที่ได้ทำลงไปหรือที่อยู่ในความดูแลของกิจการนั้นๆ ตลอดจนการรับภาระหรือเป็นธุระดำเนินการป้องกัน และปรับปรุงแก้ไขผลที่ไม่ดี รวมถึงการสร้างสรรค์ และบำรุงรักษาผลที่ดีซึ่งส่งผลกระทบไปยังผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กร

แนวความคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรจาก Carroll  และ Buchholz (1999)   ได้ให้แนวคิดไว้ว่า สำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณธรรม โดยผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นได้ยอมรับว่าความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจจะเป็นทางที่นำไปสู่การยอมรับทางสังคม

Pyramid of Corporate Social Responsibility

Carroll's CSR Pyramid เป็น แนวความคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

Carroll’s CSR Pyramid เป็นการแบ่งความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ปิรามิดที่ใช้ในการแบ่งเกณฑ์การรับผิดชอบมี 4 ระดับดังนี้

Economic Responsibility ความรับผิดชอบทางด้านเศรษฐศาตร์

ระดับที่ต่ำที่สุดของปิรามิดเป็นการรับผิดชอบต่อองค์กรหรือธุรกิจคือการทำให้มีกำไร มีรายได้ การทำธุรกิจที่ขาดทุนทำให้ธุรกิจดำรงอยู๋ไม่ได้ ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้พนักงานทำให้คนตกงาน การมีกำไรเป็นทางเดียวที่จะทำให้บริษัทอยู่อย่างยาวนาน นอกจากนี้หน้าที่ของบริษัทต้องผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยราคาที่เหมาะสมอีกด้วย

Legal Responsibility ความรับผิดชอบทางด้านกฎหมาย

ระดับที่ 2 องค์การต้องทำให้ถูกหมาย ถูกกฎระเบียบ ในพื้นที่ที่ตนเองดำเนินธุริจอยู่ เพื่อเป็นตัวควบคุมไม่ให้องค์การคอยรับผิดชอบแต่จะทำกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคม เช่น กฎหมายแรงงาน, กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณะสุข การเสียภาษีและการทำบัญชีให้ถูกต้อง ถ้าไม่ผ่านข้อนี้จะมีผลเสียกับธุรกิจ

Ethical Responsibility ความรับผิดชอบทางด้านจริยธรรม

การมีจริยธรรมในการทำธุรกิจไม่ฉวยโอกาส ควรประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สังคมเห็นชอบ เป็นสิ่งที่ควรทำในทุกสถานการณ์ องค์กรไม่เพียงทำตามกฎหมายอย่างเดียวควรทำให้ถูกตามจริยธรรมด้วย ซึ่งข้อนี้ไม่เหมือน 2 ระดับแรกที่บริษัทต้องทำ ระดับนี้บริษัทไม่ถูกบังคับให้ทำ แต่ถ้าทำจะมีผลดีอย่างมากไม่เพียงผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ ลูกค้าที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจะรู้สึกดีกับบริษัทไปด้วย

Philanthropic Responsibility ความรับผิดชอบเชิงสาธารณะประโยชน์

เป็นความรับผิดชอบระดับสูงที่สุด ความรับผิดชอบที่จะต้อง ‘คืนประโยชน์ให้กับสังคม’  เป็นการกระทำที่องค์กรธุรกิจให้ความช่วยเหลือหรือบริจาคเพื่อเป็นการตอบสนอง ความคาดหวังของสังคมด้วยความเป็นพลเมืองที่ดีขององค์กรธุรกิจ อาจรวมถึงกิจกรรมที่เป็นการกระทำที่สนับสนุนความผาสุกของมนุษย์หรือความสัมพันธ์อันดีในทางธุรกิจโดยทั้งผู้บริหารและลูกจ้างมีส่วนร่วมโดยการเป็นอาสาสมัครเพื่อร่วมช่วยเหลือสังคมท้องถิ่นหรือปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนสังคมให้ดีขึ้น การรักษาสภาพแวดล้อมของโลกโดยการลดการใช้พลาสติก ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เพื่อลดขยะของโลก การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของธุรกิจเพื่อลดภาวะโลกร้อน

ความสำคัญของ CSR

CSR มีความสำคัญอย่างมาก เพราะองค์กรไม่ควรทำธุรกิจที่แสวงหากำไรที่ไม่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะองค์กรไม่สามารถประกอบการได้หากไม่มีสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย แรงจูงใจของ CSR ก็คือการรักษาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้องค์กรสามารถทำงานต่อไปได้ในระยะยาวและอย่างยั่งยืน องค์กรที่ขาด CSR มักมีปัญหาระยะยาวซึ่งบริษัทที่มุ่งเน้นทำกำไรสูงสุดอย่างเดียวโดยไม่สนใจพนักงาน สิ่งแวดล้อมหรืออย่างน้อยๆ เรื่องกฎหมาย แม้จะมีปัญหาอาจสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากประเด็นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม้ไม่เกี่ยวกับเรื่อง CSR แต่เป็นตัวอย่างที่ต้องระวังอย่างมากในโลกยุคนี้ที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและสภาวะการใช้แรงงาน ตัวอย่างล่าสุดที่ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องข้อกล่าวหาว่าโดย PETA กล่าวหาใช้ลิงเก็บมะพร้าวทารุณกรรมสัตว์ ทำให้ห้างในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหลายแห่ง แบนสินค้าในกลุ่มมะพร้าวจากไทย แม้จะไม่เป็นความจริงและกระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงและทำความเข้าใจให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเจ้าของสวนมะพร้าวยืนยันว่า ไม่เคยใช้แรงงานลิงแต่จะใช้แรงงานคน ก็ยังไม่ได้รับการยกเลิกการแบนสินค้ามะพร้าวจากไทย

ในอนาคต CSR จะมีความสำคัญอย่างมากในธุรกิจทั้งระดับบริษัทหรือระหว่างประเทศ จะมีกฎระเบียบข้อจำกัดต่างๆ ที่ออกมาโดยอาจออกมาเพื่อกีดกันทางการค้าให้ทำตามมาตรฐานต่างๆ ที่แต่ละประเทศกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน หรือการทารุณกรรมสัตว์ นอกจากนี้ CSR ในหลายองค์การอาจเป็นการตั้งเงื่อนไขให้กับผู้มีส่วนได้เสีย อันหมายถึง ลูกค้า คู่ค้า ผู้ลงทุน รัฐบาล และองค์การพัฒนาชุมชน ร่วมกันดูแลรับผิดชอบสังคมด้วย

CSR แท้ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรม CSR โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมเป็นที่ตั้ง และ CSR เทียม ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรม CSR โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อองค์กรเป็นที่ตั้ง การดูว่าเป็น CSR แท้หรือเทียม ให้ดูที่ประโยชน์ตกอยู่ที่บริษัทหรือสังคมมากกว่ากัน โดยต้องทำด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่จากกระแสสังคมบังคับหรือหาช่องทางกฎหมายข้อกำหนดต่างๆโดยหาเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดหรือธุรกิจ

กลยุทธ์ CSR สำหรับธุรกิจ

กลยุทธ์ CSR สำหรับธุรกิจ

CSR Marketing คือการสื่อสารทางการตลาดโดยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและองค์กร การทำ CSR เป็นการให้คุณค่า กลับคืนสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง โดยธุรกิจต้องมีบทบาทเป็นผู้ให้บ้างหลังจากที่ทำกำไรจากลูกค้าหรือผู้บริโภค การทำกิจกรรม CSR นั่นสามารถทำได้หลายกิจกรรม ง่ายๆ ก็คือคุณจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้สังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับผลประโยชน์

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก และมีสิ่งที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวองค์กร และคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ องค์กรควรหลีกเลี่ยงโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักขององค์กรหรือความถูกต้องในการทำธุรกิจ และควรหลีกเลี่ยงจากการใช้ประโยชน์จาก CSR เพื่อประโยชน์ทางการตลาด เพื่อไม่ให้เกิดคำถามจากสังคมว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือเป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์ ดังนั้นการวางแผนการทำกิจกรรม CSR ใดๆจำเป็นต้องคิดให้รอบด้าน

ภาพลักษณ์ในสังคม – ภาพลักษณ์เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดแต่ก็ควรเป็นสิ่งที่องค์กรคิดถึงหลังสุดเวลาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ลูกค้าส่วนมากตัดสินบริษัทจากสิ่งที่ลูกค้าเห็น เช่น ภาพพนักงานบริษัทกำลังช่วยเหลือสังคม หรือสื่อที่เจ้าของธุรกิจบริจาคเงินให้กับโรงเรียนยากจน 

สร้างแบรนด์ – กิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ที่ถูกทำอย่างต่อเนื่อง และมีความเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ ก็จะทำให้เกิดแบรนด์ที่ดี แบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมก็มักที่จะเป็นแบรนด์ที่มีความแตกต่างและสามารถมัดใจลูกค้าได้ในระยะยาว เพราะสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อได้ว่าเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบ มีความจริงใจ

เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น – ข้อดีของการสื่อสารผ่านทาง CSR ก็คือลูกค้ามีแนวโน้มที่จะนำไปพูดต่อมากขึ้น หากเทียบกับการประชาสัมพันธ์หรือการขายทั่วไป

เข้าถึงพนักงานมากขึ้น – CSR ยังเป็นวิธีประสานความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานได้ดีอีกด้วย การทำเพื่อสังคมทำให้พนักงานรับรู้ได้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างกำไร นอกจากจะทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นมากขึ้นแล้วยังลดโอกาสที่พนักงานจะหมดไปหรือลาออกอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Netflix เสนอให้พนักงานลา เพื่อไปเลี้ยงดูบุตรได้ถึง 52 สัปดาห์ หรือ 1 ปี โดยยังคงได้รับเงินเดือน

ข้อระวังคือมีไม่กี่ธุรกิจที่ทำ CSR ที่แท้จริง แน่นอนการทำ CSR ก็เพื่อหวังผลทางด้านการตลาด เพื่อสัง Brand ของธุรกิจเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เมื่อรู้จักมากขึ้นก็จะมีความภักดีต่อตราสินค้ามากขึ้น อันนำมาซึ่งยอดขาย และภาพพจน์ที่ดีต่อธุรกิจ สินค้า และบริการ  แต่ส่วนมากแล้ว การทำกิจกรรม CSR จะมีการมุ่งเน้นในเรื่องของการทำตลาด โฆษณามากเกินไป บางครั้งทำมากจนทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงผลประโยชน์ ที่แฝงอยู่  ซึ่งไม่ใช้การทำ CSR ที่ดีเลย

CSR ควรเป็นแนวทางที่แสดงความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด เพราะมิเช่นนั้น การทำ CSR ที่เห็นกันทั่วๆไป ก็จะเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งของการทำประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพเท่านั้น 

ประเภทกิจกรรมของ CSR

CSR กับเกณฑ์ผลประโยชน์ สามารถจำแนกกิจกรรม CSR ได้เป็น 2 พันธุ์ (Variety) ได้แก่ CSR แท้ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรม CSR โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมเป็นที่ตั้ง และ CSR เทียม ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรม CSR โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อองค์กรเป็นที่ตั้ง

การบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropic CSR) เป็นแนวทางที่ง่ายที่สุดและมีมายาวนานในสังคมไทย นั่นคือ การที่องค์กรแสดงความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยการนำเงิน สิ่งของ หรือสินค้า ไปร่วมทำบุญ ให้ทุนการศึกษา หรือบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือ หากองค์กรมีทรัพยากรด้านการเงินมากหรือเครือข่ายทางธุรกิจกว้างขวางก็อาจระดมเงินตั้งเป็นกองทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือ การที่บริษัทนำส่วนหนึ่งของรายได้ หรือกำไรจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการไปบริจาคเพื่อสาธารณกุศล เรียกว่าเป็นการบริจาคแต่โฆษณาหรือเชื่อมโยงกับสินค้าหรือตัวองค์กร (Cause-related Marketing) เช่น การนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยการนำเงินไปสร้างโรงเรียน เป็นต้น

ความรับผิดชอบสังคมต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental CSR) – แนวทางนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างตรงไปตรงมาจากองค์กรมากที่สุด เนื่องจากเป็นแนวทางที่เสนอให้องค์กรนำประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เลือกไว้ ย้อนกลับมาปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจที่เป็นอยู่ของตนเอง เช่น จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก หรือการลดขยะพลาสติก โดยร้านสะดวกซื้อร่วมมือกับประชาชนลดการให้ถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้า เป็นต้น

การรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) 

การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering CSR) – อาสาสมัครในรูปแบบของการระดมให้พนักงาน หรือคู่ค้าธุรกิจสละเวลาและแรงงานเพื่อช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้กับองค์กร  เป็นวิธีการที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรในองค์กรกับชุมชน ได้เป็นอย่างดี และยังทำให้พนักงานรับรู้ เข้าใจถึงความจำเป็น ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะเปิดโอกาสให้พนักงานได้เป็นตัวแทนของบริษัทเข้าไปทำหน้าที่ของพลเมืองดีในชุมชนได้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้องค์กรควรให้การสนับสนุนพนักงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพิจารณาความดีความชอบ เบี้ยเลี้ยงพิเศษ

มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000

ISO 26000 เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) แก่องค์กรทุกประเภท ในการสนองตอบความต้องการของสังคมที่ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการประกอบการอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ในมาตรฐาน ISO 26000 ประกอบด้วยข้อแนะนำที่ให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติโดยสมัครใจ มิใช่ข้อกำหนด (requirements) ดังเช่นที่ปรากฏในมาตรฐานการรับรอง อาทิ ISO 9001 หรือ ISO 14001 ด้วยเหตุนี้ ISO 26000 จึงมิใช่มาตรฐานสำหรับนำไปใช้ หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรอง (certification)

อ่านเพิ่มเติม – wikipedia, thaicsr