ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องหรือของแพงขึ้น ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากและต่อเนื่องจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ จากคณะกรรมการนโยบายการเงิน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 เป็นระหว่าง 5.5-6.5 %

สาเหตุของเงินเฟ้อ
สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
- ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
- ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost – Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
- ค่าเงิน (FLAT Currency) ที่ลดมูลค่าของตัวเอง ซึ่งสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลของประเทศนั้นพิมพ์เงินมาใช้เอง โดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น ประเทศซิมบับเว หรือ เวเนซุเอล่าที่ค่าเงินเฟ้อต่อปีสูงเกิน 1000%
ผลกระทบของเงินเฟ้อ
ในภาวะเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังใช้จ่าย Demand – Pull Inflation โดยปกติเงินเฟ้อในระดับที่ไม่สูงมากจะทำให้เศรษฐกิจหมุนได้ดี แม้สินค้าและบริการมมีราคาสูงขึ้น ผู้คนก็พร้อมที่จะจับจ่าย แม้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถนำไปบวกในราคาสินค้าได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการที่มากขึ้นจนถึงขั้นเก็งกำไร จนเกิดปัญหาสะสมมาก ก็อาจจะเกิดเป็นปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Price Bubble)
ในภาวะเศรษฐกิจแย่ ปกติจะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงและต่อเนื่องได้ยาก แต่ความต้องการซื้อสินค้าและบริการมักจะเกิดจากการขาดแคลน ถ้าเกิดทั้ง Demand – Pull และ Cost – Push Inflation ด้วยยิ่งเป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2565 นี้ มีแนวโน้มไปสู่ stagflation ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ recession-inflation เป็นสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อสูงหรือเพิ่มขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง
ยิ่งเงินเฟ้อสูงมากขึ้นเท่าไร ความมั่งคั่งของประชาชนก็จะลดลง ตัวอย่าง ถ้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% แต่เงินที่ฝากในธนาคารได้ดอกเบี้ยเพียง 2% ต่อปี ถ้าคิดเบ็ดเสร็จมูลค่าที่แท้จริงรวมดอกเบี้ยและหักเงินเฟ้อ เงินในบัญชีของเราจาก 100 บาทสิ้นปีจะเหลือ 97 บาทเท่านั้น เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง -3% ในทางกลับกันคนที่หนี้ถ้าเงินเฟ้อ 5% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ 7% ปกติ 100 บาท เสียดอกเบี้ยแล้วเป็น 107 บาทถ้าหักเงินเฟ้อจะเหลือ 102 บาท คนที่กู้เงินจะได้เปรียบ(ถ้าดอกเบี้ยคงที่)
อย่างไรก็ดีถ้าเงินเฟ้อมีสูงมาก ๆ และเร็วก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “Hyper Inflation” ก็จะทำให้คนซื้อของได้น้อยลง เจ้าของกิจการขายของได้น้อยลง สุดท้ายก็ต้องลดขนาดกิจการและไล่คนออกในที่สุด อีกทั้งอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่นๆ
วิธีการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
เมื่อเกิด “เงินเฟ้อ” การจัดการจากทีมจัดการการเงิน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ ธปท. จะใช้เครื่องมือ “นโยบายการเงิน” ดูแลคาดการเงินเฟ้อ โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน ดูแลรักษาระดับของเงินเฟ้อผ่านเครื่องมือ 3 ประเภท ได้แก่
1. การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงิน (Reserve Requirement)
2. การทำธุรกรรมปรับสภาพคล่องผ่านการตลาดการเงิน (Open Market Operations)
3. หน้าต่างปรับสภาพคล่อง ณ สิ้นวัน (Standing Facilities)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมกันปีละ 8 ครั้ง หรือ 6-8 สัปดาห์ เพื่อกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ และ มีการเอาเงินออกจากระบบเพิ่มลดสภาพคล่อง ให้ปริมาณการหมุนเงินในระบบลดลงเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
เงินเฟ้อในประเทศไทยปี 2565
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร (15 มิถุนายน 2565) คาดการณ์ว่าเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นและมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น คาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 6.6% ในปี 2022 และ 3.1% ในปี 2023 สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาค่าครองชีพ ต้นทุน และส่งผลต่อเนื่องกับภาระการชำระหนี้ของครัวเรือนที่จะปรับตัวสูงขึ้น สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว
KKP Research ประเมินว่าแม้ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการเปิดเมืองอาจจะเริ่มคลี่คลาย แต่มีโอกาสที่เงินเฟ้อโลกและไทยจะยังคงอยู่ในระดับสูงและยังไม่ชะลอตัวลงจาก 3 เหตุผล คือ
1) นโยบายการเงินตอบสนองต่อเงินเฟ้อช้า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกับตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ 1970-1980 สะท้อนว่านโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย และเป็นตัวเร่งอุปสงค์ให้ยังเติบโตร้อนแรง
2) การส่งผ่านของเงินเฟ้อไปยังสินค้าต่าง ๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีราคาสินค้าที่เตรียมปรับขึ้นอยู่อีก ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากปัญหาต้นทุนและการข้อจำกัดด้านอุปทาน และราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้ให้เงินเฟ้อสหรัฐ ฯ ค้างอยู่ในระดับสูงในปี 2023
3) ปัจจัยความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันและอาหาร และความเสี่ยงด้านการคาดการณ์เงินเฟ้อ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อโลกที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะคลี่คลายลง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศจะยังมีมาก และนโยบายการเงินทั่วโลกจะมีทิศทางตึงตัวชัดเจนขึ้นจะกดดันให้ กนง. เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไป โดยคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 4 ครั้งในปี 2023
นอกจากปัญหาเงินเฟ้อที่นำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย จะทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมากผ่านช่องทางการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปี 2022 และ 2023 อาจส่งผลกระทบเพิ่มเติม และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่ได้รับการส่งผ่านราคาและแรงกดดันที่มาจากภาวะเงินเฟ้อโลกและราคาน้ำมัน แนวโน้มเงินเฟ้อโลกที่เปลี่ยนไปในระยะยาวและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลให้ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในประเทศได้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะมีความเปราะบางต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากด้วย
เงินเฟ้อโลกสูงยาวหลายปี
ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้น่ากังวลแค่ในระยะสั้นแต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวครอบคลุมถึงทศวรรษหน้า จากกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนทิศทางอย่างถาวร คือ
1) การเข้าสู่จุดสูงสุดของยุคโลกาภิวัตน์ การเข้าร่วมการค้าโลกของจีนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั่วโลกถูกลง อย่างไรก็ตามค่าจ้างแรงงานในจีนที่สูงขึ้นพร้อมกับภาวะเริ่มขาดแรงงาน ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่โตต่ำ สัญญาณความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งจีนและสหรัฐ ฯ และรัสเซียและยูเครน การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ เป็นสัญญาณสะท้อนจุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์
2) อำนาจตลาดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง บริษัทในสหรัฐมีแนวโน้มครองอำนาจตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว เช่น ธุรกิจ E-commerce
3) สังคมสูงวัยในระดับโลกอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้ว่าผู้สูงอายุจะบริโภคสินค้าน้อยกว่าคนวัยหนุ่มสาว แต่ปัจจัยสำคัญอีกทางหนึ่งคือสัดส่วนระหว่างคนสูงอายุเทียบกับประชากรวัยทำงาน กำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง บ่งบอกว่าแรงงานและกำลังการผลิตกำลังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้บริโภค
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้มีความเสี่ยงกำลังจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในช่วงปลายปี 2023 ถึงปี 2024 โดยสถิติในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสู่กับภาวะเงินเฟ้อ จะนำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเกือบทุกครั้ง และสัญญาณจากตลาดการเงินที่ต้องจับตาดู คือ Inverted Yield Curve ซึ่งมักจะเกิดขึ้นก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยประมาณ 1 ปี แม้ในปัจจุบันตลาดการเงินยังหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะ Soft-landing หรือภาวะที่ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย แต่ KKP Research มองว่ามีโอกาสน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในภาวะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อกำลังรุนแรงขึ้น