ไม่น่าเชื่อว่าปี 2020 วิถีชีวีตตามปกติที่เราดำเนินชีวีตกันอยู่จะเปลี่ยนไปภายในไม่กี่เดือน ซึ่งหลังจากเกิด Covid-19 การใช้ชีวิตคนเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดสิ้นสุดลงซึ่งอาจจะอยู่กับเราไปอีกหลายปีจนกว่ามีการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึง การจับไม้จับมือกันต้องระวัง การอยู่กับคนหมู่มากต้องเลี่ยง ต้องล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ การทำงานที่บ้านมากขึ้น เป็นเรื่องปกติใหม่ (new normal)ที่ทุกคนต้องทำความคุ้นเคย หรือยอมรับกัน
ร้านขายข้าวมันไก่ย่านซอยอารีย์ได้ประดิษฐ์ฉากกั้นโต๊ะในการกินอาหารที่ร้าน
Penguin Eat Shabu ชวนมานั่งกินชาบูแบบคนเดียว (ภาพจากเพจ Penguin Eat Shabu – เพนกวินกินชาบู
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่าราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ “New Normal” หมายถึง
ความปกติใหม่ , ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
จากข้อมูลพบว่า “นิว นอร์มอล” (New Normal) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยบิลล์ กรอส (Bill Gross) ผู้ก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ชาวอเมริกัน โดยตอนนั้นเขาใช้อธิบายถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2007-2009 โดยบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง และจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าเดิม เศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีเหมือนเดิม เช่น การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ทั้งที่หลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก การยืมเงินจากอนาคต เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในวันนี้ จะส่งผลให้เติบโตได้ลดลงในอนาคต การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำติดดิน บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน