
22 ก.ย. 64 กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศวิสัยทัศน์องค์กร รับบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้าสองร้อยล้านคนพร้อมภารกิจเชื่อมต่อ ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ โดย “SCBX” จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย
การจัดตั้ง SCBX ขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดย SCB ให้คำนิยามกับ SCBX ว่าเป็น Mothership หรือ “ยานแม่”เพราะปัจจุบัน แม้ว่า SCB จะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น SCB10X ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ด้วยความที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของแบงก์ จึงทำให้มีข้อจำกัดและดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่
โครงสร้างใหม่ภายใต้บริษัทแม่อย่าง SCBX จะทำให้บริษัทสามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ
1. ธุรกิจ Cash Cow ซึ่งก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน
2. ธุรกิจ New Growth
ดังนั้น SCBX ในฐานะบริษัทแม่ จะมีธุรกิจ Cash Cow คือ ธนาคาร SCB และมีธุรกิจอื่นๆ เป็น New Growth เป้าหมายคือ การเพิ่มสัดส่วนลูกค้าจาก 16 ล้านรายในประเทศไทย เป็นกว่า 200 ล้านรายทั่วภูมิภาค โดยมีเป้าหมายหลักเบื้องต้น คือ อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจใหม่, จัดการ Capital Management, ทำ Data Integration จากบริษัทในกลุ่มทั้งหมด และบริหารการทำงานของกลุ่มร่วมกัน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
“แนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้
“ในปี 2025 ความคาดหวังของ SCB คือ การสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และหลังจากสามปีนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี(technology platform) ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที”
“การจัดตั้งบริษัท “SCBX” หรือ “ยานแม่” ขึ้นมา เพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะ “บริษัทลงทุน” ที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง (Non-operating holding company) โดยจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น และพาให้ SCB ก้าวสู่โลกใหม่ที่ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป”
SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้
โดยทางผู้บริหารได้ตั้งเป้าหมายให้แต่ละบริษัทย่อย สามารถเติบโตและ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วยตัวเอง โดยนอกทำธุรกิจในประเทศแล้วยังรวมไปถึงการรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานลูกค้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านราย ให้เป็น 200 ล้านราย ตั้งเป้าให้บริษัททั้งหมดในเครือ มีมูลค่ารวมกันราว “1 ล้านล้านบาท” ในอนาคต
สำหรับขั้นตอนต่อไปก็คือ SCB จะให้ผู้ถือหุ้น SCB เดิม ทำการแลกหุ้นกับ SCBX ต่อมาก็จะเพิกถอน SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์และหลังจากนั้นจะให้ SCB เดิมจ่ายเงินปันผลมูลค่า 70,000 ล้านบาทให้กับ SCBXเมื่อ SCBX ได้รับเงินปันผลมา จะนำเงินประมาณ 70% หรือคิดเป็น 49,000 ล้านบาท ไปใช้ในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ตามที่ได้กล่าวมาส่วนอีก 30% หรือคิดเป็น 21,000 ล้านบาท จะถูกนำออกมาจ่ายเป็นปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น SCBX ซึ่งคาดว่าจะจ่ายได้ในช่วงปีหน้า ซึ่งถ้าเทียบ 21,000 ล้านบาท กับ Market Cap ของ SCB ตอนนี้ที่ 365,000 ล้านบาท ก็จะได้ประมาณ 5.7%
คำว่า SCBX จึงมี X ที่มาจาก Exponential ที่เป็นการยกกำลังเพื่อสร้างการเติบโต ด้วยกลุ่มบริษัทธุรกิจในเครือทั้งหมด เช่น AISCB ที่ทำธุรกิจด้าน Digital Lending และ Financial Product อื่นๆ, Alpha X จากการร่วมกับกลุ่ม Millennium Group Corporation หรือ Auto X ที่เน้นด้าน Loan Business เป็นต้น และทั้งหมดไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของธนาคารอีกต่อไป

15 บริษัทภายใต้ยานแม่ SCBX
1.บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB)
บริษัทร่วมทุนระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เพื่อร่วมกันให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บนแพลตฟอร์ม ครอบคลุมฐานลูกค้าทั้งสององค์กรกว่า 50 ล้านคน ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
บริษัทร่วมทุนดังกล่าวได้นำเอาจุดเด่นของพันธมิตรทั้งสอง คือ ความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ นวัตกรรมอันล้ำสมัย ตลอดจนศักยภาพในการให้บริการลูกค้าของเอไอเอส มาผสานเข้ากับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่จะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยได้มากยิ่งขึ้นท่ามกลางบริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2.บริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการกองทุนในกองทุน Venture Capital (SCB-CP Group JV)
บริหารจัดการกองทุน โดย SCB 10X บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือร่วมกันก่อตั้งกองทุน Venture Capital ภายใต้การทำหน้าที่เป็น Fund General Partner ด้วยสัดส่วนถือหุ้น 50:50 ร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นจำนวนเงินฝ่ายละ 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และได้รับการร่วมลงทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรองในจำนวน 400-600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มุ่งเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน (Blockchain), สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets), เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก
3.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB TechX)
บริษัทร่วมทุน ระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้ให้บริการโซลูชั่นทางดิจิทัลเทคโนโลยีระดับโลก ตั้งเป้าสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านฟินเทคแพลตฟอร์มในอาเซียน มุ่งขยายขีดความสามารถด้าน Technology Development เพื่อให้บริการในหลากหลายอุตสาหกรรม
4.บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X)
ผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล (disruptive digital innovation) และการลงทุนในกองทุน (Venture Capital) ลงทุนในกองทุนระดับโลก (VC) กว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ กับ 6 ยูนิคอร์น และกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนสูง (top quartile returns) บล็อกเชนระดับโลก (Blockchain) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)/ ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi Network)
5.บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X)
บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร ครอบคลุมบริการที่ปรึกษาและวางแผนธุรกิจเกี่ยวกับ Tokenization (การทำให้สินทรัพย์ต่าง ๆ กลายไปอยู่ในรูปแบบโทเคน) รวมถึงวางแผนในการพัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าหมายทางธุรกิจสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้าน Digital Asset Tokenization ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2025
6.บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures)
ผู้นำด้านการพัฒนาโซลูชั่นแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี มีลูกค้ากว่า 15,000 องค์กรเข้าร่วมในซัพพลายเชนแพลตฟอร์ม
7.บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX)
บริษัทฟินเทคสตาร์ตอัพร่วมทุนระหว่างประเทศ ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินครบวงจร ที่ผสานพลังดิจิทัลของเทคโนโลยีเอไอ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) อันชาญฉลาด แม่นยำ และปลอดภัยระดับโลก มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 4 ล้านครั้ง พร้อมปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีครึ่ง
8.บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X)
บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจคำปลีกยานยนต์ชั้นนำในประเทศไทย มุ่งเน้นประกอบธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับพาหนะระดับลักซ์ชัวรี สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์(Big Bike) และยานพาหนะทางน้ำ (Yacht และ River Boat)
ทั้งนี้บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งขั้นต้น 1 ล้านบาท และมีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 300 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับจากวันที่จัดตั้งบริษัท ซึ่งบริษัทเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารนอกกลุ่ม Solo Consolidation ซึ่งธนาคารถือหุ้นในสัดส่วน 50% และ MGC Group ถือหุ้น 50% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท
9.บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X)
บริษัทใหม่ที่จะบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (title loan) เตรียมเปิดตัวให้บริการในไตรมาส 1/2565
10.บริษัท ดาต้า เอ็กซ์ จำกัด (Data X)
บริษัทที่ทำหน้าที่เป็น Center ในการ Integrate Data ของทั้ง SCBX Group รวมถึงในส่วนของภาพรวมทั้งหมด เพื่อที่จะสร้างขีดความสามารถในการทำงานควบคู่กับบริษัทที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง (Blue Ocean)
11.บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures)
โรบินฮู้ด แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่สัญชาติไทย ที่ผสานขีดความสามารถด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เอไอ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) ด้วยฐานลูกค้าผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มกว่า 2 ล้านคน ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มเป็น Super App ในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพในการระดมทุน
12.บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS)
ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นสินเชื่อออนไลน์ ระดมทุนผ่านซีรีส์ A ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาท มียอดดาวน์โหลด 5 ล้านดาวน์โหลด ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในด้านรายได้และสินเชื่อด้วยเป้าหมายเติบโต10 เท่า
13.บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X)
บริษัทที่แยกตัวออกมาจากธนาคาร ทำธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านบัตรเครดิต และสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ด้วยฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านราย และจำนวนสินเชื่อ 1.20 แสนล้านบาท ตั้งเป้า IPO ในปี 2024
14.บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB Securities)
ผู้นำด้าน Digital Securities และ Brokerage Services คนแรกที่เข้ามาในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งเป้าเป็นผู้นำในเรื่องการลงทุนและบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคอาเซียน
15.SCB Digital Banking
หน่วยงานภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ มุ่งมั่นในการพัฒนาขีดความสามารถทาง Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบ ลูกค้าที่ใช้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนกว่า 12.5 ล้านคน ด้วยจำนวนธุรกรรมทางการเงินกว่า 356 ล้านธุรกรรมต่อเดือน