ซันดาร์ พิชัย Sundar Pichai อดีตนั้นเขาอยู่ในครอบครัวที่ยากจน และไม่เอามาเป็นข้ออ้าง จากคนธรรมดาสู่เป็น CEO ของบริษัทระดับโลกอย่าง Google
Sundar Pichai เป็น CEO ของ Google ในปี 2015 และในปี 2019 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของบริษัท Alphabet บริษัทแม่ของ Google
เส้นทางชีวิตของเขาก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก Sundar Pichai เกิดเมื่อปี 1972 (ปัจจุบันปี 2020 อายุ 48 ปี) ที่รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย และเรียนระดับชั้นปริญญาตรีที่สถาบัน IIT Kharagpur ที่อินเดีย ครอบครัวของเขาถือว่ามีฐานะยากจน ทุกคนอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์เล็กๆ แห่งหนึ่ง พร้อมกับมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งสำหรับใช้เดินทางของคนในครอบครัว
ตอนเด็ก ๆ ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในบ้านที่ต้องแชร์ร่วมกับผู้เช่าคนอื่น ๆ Sundar Pichai ไม่มีแม้กระทั่งห้องนอนส่วนตัว เขาต้องนอนบนพื้นห้องนั่งเล่น
ถึงแม้พ่อของ Sundar จะเป็นวิศวกรไฟฟ้าและผู้จัดการโรงงาน ครอบครัวของเขาก็ยังมีรายได้ขัดสนอยู่ดี พ่อของเขาต้องใช้เวลาเก็บเงินถึง 3 ปีเพื่อจะซื้อสกูตเตอร์ให้ แต่พ่อของเขานั้นก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการศึกษาของ Sundar และน้องชายเป็นอย่างมาก ขณะที่แม่เคยทำงานเป็นเสมียนก่อนที่จะลาออกมาเลี้ยงดูลูก
สิ่งที่น่าเอาเป็นแบบอย่างก็คือความลำบากในวัยเด็ก ไม่ได้เป็นอุปสรรคใด ๆ ในการพัฒนาตัวเองของ เขา ‘รักการอ่าน’ ตั้งแต่เด็ก เขาบอกว่าเขาอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า กิจกรรมที่เขาทำก็คือเล่นกีฬาและอ่านหนังสือ เขาบอกว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไรในชีวิต
เห็นไหมว่าคุณจะขาดอะไรในชีวิตก็ได้ เป็นคนยากจน ไม่ได้มีหน้าตาในสังคม แต่คุณจะขาด ‘ความกระหายความรู้’ ไม่ได้ นั่นเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนทุกชนชั้นสามารถสร้างได้โดยไม่ต้องใช้เงินตราเข้ามาแลกเปลี่ยน
จุดเด่นของ Sundar Pichai คือ “การเรียน” ซึ่งเขาเป็นเด็กที่เรียนเก่ง และมีความมุ่งมั่นมากคนหนึ่ง Pichai มีความสนใจในเรื่องของคอมพิวเตอร์อย่างมาก โดยเกมหมากรุก คือ ซอฟต์แวร์ตัวแรกที่เขาเขียนขึ้น
หลังจากจบปริญญาตรีที่อินเดีย ผลการเรียนที่โดดเด่นมาก จึงทำให้ Stanford มอบทุนการศึกษาแก่เขา ในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวัสดุศาสตร์ ซึ่งมันเป็นอะไรที่เปิดโลกให้กับเขาอย่างแท้จริง Sundar บอกว่าค่าตั๋วเครื่องบินนั้นแพงกว่าเงินเดือนพ่อของเขาทั้งปีอีก
หลังจบจาก Stanford เขาได้ทุนมาเรียนต่อด้าน MBA ที่ Wharton School ในปี 2002
หลังจากทำงานให้บริษัทใน Silicon Valley ในตำแหน่ง Product Manager และเป็นที่ปรึกษา ในปี 2004 เขาก็ได้ทำงานให้กับ Google ในที่สุด เขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา Gmail, Google Drive, Google Maps, Google Search, Android ซึ่งไฮไลท์ผลงานของเขาก็คือ Google Chrome บราวเซอร์ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท Sundar นำเสนอไอเดีย Google Chrome เพราะเล็งเห็นความสำคัญที่ว่า สักวัน Internet Explorer น่าจะค่อยๆเบียด Google Toolbar ออกไป ดังนั้น Google จึงควรก้าวให้ไวด้วยการสร้างจุดแข็งและฐานกำลังของตัวเองผ่านบราวเซอร์ Google Chrome ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทในระยะยาวมากกว่า ไอเดียนี้โดนใจผู้บริหารอย่าง Page และ Brin ไปแบบเต็มๆ แต่กลับตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของ Eric Schmidt CEO ในตอนนั้น ด้วยเหตุผลจากมุมมองของ Eric ที่ว่าเป็นการลงทุนที่ยังไม่ตรงจุดและต้นทุนก็สูงมากเกินไป โปรเจค Chrome จึงไม่ได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตามวันนี้ บทพิสูจน์ที่สะท้อนแนวคิดของ Sundar จากเม็ดเงินที่ทำรายได้ให้กับบริษัทจำนวนมหาศาลถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
เขาได้รับตำแหน่ง CEO ของซีอีโอ Alphabet ในปี 2019 ภารกิจนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะ Alphabet เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก มูลค่าตลาดปัจจุบันเกือบ 1,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่รวมถึง google และ ยูทูบ (YouTube)ด้วย การเติบโตอย่างรวดเร็วในหน้าที่การงานของ Sundar Pichai นั้น มาจากสิ่งต่างๆ ที่เขาพัฒนาให้แก่ Google จนทำให้ Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google รู้สึกประทับใจในความสามารถของเขาอย่างมาก Larry Page เคยพูดถึง Sundar Pichai ว่าเป็นคนที่สามารถอธิบายเรื่องระบบ IT ที่ต้องใช้ศัพท์เทคนิคมากมาย และยากต่อความเข้าใจ ให้เป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย และเขามีทักษะความสามารถที่ล้นเหลือในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหน้า และก็ทำการพาทีมเคลื่อนตัวไปสู่สิ่งเหล่านั้น
ปี 2018 Sundar Pichai มีรายได้จากการทำงานกว่า 14,500 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นเงินเดือน และค่าตอบแทนเป็นหุ้นของ Google
เราเรียนรู้จาก CEO Google คนนี้ได้ว่าอย่าให้ความลำบาก หรือความยากจนมาเป็นข้ออ้างในการพัฒนาตัวเอง ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับมุมมองของชีวิต
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า ‘ครอบครัวอื่น ๆ มีตู้เย็นเป็นของตัวเอง ตอนที่ครอบครัวของเขาได้ตู้เย็นเป็นของตัวเองบ้างนั้น มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก’
Sundar Pichai เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่มีความสุขในชีวิต
ไม่ใช่ว่าทุกอย่างในชีวิตจะถูกต้องไปหมดแต่ทัศนคติต่อชีวิตต่างหากที่ถูกต้อง”’ เปลี่ยน ‘ข้ออ้าง’ เป็น ‘มุมมองในชีวิตที่ดี’ และ ‘พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง’ จะพาคุณไปสู่ความสำเร็จได้เหมือน ‘Sundar Pichai’
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Sundar_Pichai